ผบห.วิศวฯ มช. เตรียมยกระดับศาสตร์นายช่างไปพร้อมสภาคณบดีคณะวิศวะ สร้างมุมมองใหม่ แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ไทย-สิงคโปร์

22 กรกฎาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร ร่วมเดินทางพร้อมสมาคมและสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มุ่งยกระดับและพัฒนาการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่มาตรฐานโลก ด้วยการนำทีมของรองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานสมัยที่ 44 ร่วมมือกับสองมหาวิทยาลัยชื่อดังของสิงคโปร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบทางวิศวกรรม นวัตกรรมหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีการฟื้นฟูสุขภาพบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

การแลกเปลี่ยนข้างต้น เกิดขึ้นสืบจากวิศวกรรมศาสตร์มีบทบาทเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและนวัตกรของไทย การวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความเจริญก้าวหน้าบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตในทุกช่วงวัย เช่น ด้านสุขภาพ การแพทย์ การผ่าตัดและรักษา การลดความเหลื่อมล้ำ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เครื่องกลเครื่องจักรเพื่อสายการผลิตอัจฉริยะ เป็นต้น สมาชิก สควท.จากประเทศไทย จึงร่วมประชุมหารือ พร้อมศึกษาดูงานเทคโนโลยี ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วยปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งไทยและสิงคโปร์ก้าวสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งเผชิญภาวะโรคระบาดหลายระลอก การรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจึงมีความสำคัญต่อผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงวัย ทั้งนี้ สิงคโปร์ก่อตั้งสถาบันวิจัย RRIS หรือ Rehabilitation Research Institute Of Singapore ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU) มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงติดอันดับโลก ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยทำงานวิจัยที่ได้รับโจทย์จากโรงพยาบาลในเครือ NTU และนำผลมาทดลองใช้กับผู้ป่วยเกิดประโยชน์ได้จริง อาทิ หุ่นยนต์วีลแชร์อัจฉริยะ (Mobile Robotic Balance Assistant : MRBA) ซึ่งเป็นวีลแชร์ระบบอัจฉริยะ ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูงวัยสามารถควบคุมเส้นทางได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัยและแม่นยำ

ครั้งนี้ได้พบปะผู้บริหารและเยี่ยมชม NUS College of Design and Engineering (CDE) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore : NUS) มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย ทั้งยังนับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งปรับเปลี่ยนบทบาทเป็น "มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต" ดูแลประชากรไม่เพียงแต่ในระดับปริญญาตรี หรือบัณฑิตศึกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยดูแล ส่งเสริมทักษะความรู้ใหม่ให้ประชากรก้าวหน้าทันสมัยเสมอ ดังนั้น ลูกค้าของมหาวิทยาลัยจึงขยายออกไปยังกลุมคนอื่น เช่น นักศึกษาที่จบไปสามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล ภายใน 3 ปี ทำให้ได้ลูกค้าใหม่ซึ่งเป็นลูกค้าเก่ากลับไปใช้บริการ หากผู้เรียนสะสมคอร์สให้เหมาะสมครบตามมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนเป็นปริญญา ได้แก่ ปริญญาตรีใบใหม่ หรือ ปริญญาโทในสาขาต่างๆ อีกด้วย สิงคโปร์มีมาตรฐานสูงจึงนับเป็นการยกระดับและปรับตัวทางการศึกษาครั้งใหญ่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ NUS พัฒนาหุ่นยนต์ คล้ายสุนัข 4 ขา เคลื่อนที่และก้าวกระโดดอย่างคล่องแคล่ว เหมาะสำหรับใช้ในงานกู้ภัย โดยวางระบบสั่งการในฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น สังเกตคลื่นชีพจรว่าอยู่จุดใด รวมถึงหุ่นยนต์ลักษณะแขนกลสามารถใช้หยิบสิ่งต่างๆ ปรับทิศทางได้รอบด้าน อาศัย AI เขียนโปรแกรมให้หยิบจับวัตถุ เป็นต้น มากกว่านั้นคณะ สควท.ได้เยี่ยมชมสิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ที่เป็นแนวโน้มของโลก โดยทำให้เมืองน่าอยู่และบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งศึกษาทิศทางเศรษฐกิจในย่านธุรกิจประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

สิ่งน่าสนใจยังประโยชน์ต่อการพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เห็นได้ว่าสิงคโปร์มีแผนการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเน้นการสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงต่อผู้เรียนมากกว่าผลการเรียน ผลิตทระพยากรบุคคลหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต อาศัยหลักการสำคัญ ดังนี้
1. Experiential Learning มหาวิทยาลัยในอนาคตมีลักษณะเรียนไป ทำงานไป เป็นผู้ประกอบการไป เปลี่ยนการเรียนรู้แบบทฤษฎีในห้องเรียน เป็นการเรียนรู้ฝึกฝนจากประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานและแก้ปัญหาจริง เพราะเสาะหาความรู้ง่ายขึ้น
2. Promote Digital Literacy คนรุ่นใหม่สิงคโปร์ต้องสามารถอยู่ในโลกยุคการค้าแห่งดิจิทัลได้ มีทักษะการคิดเชิงคำนวณเพื่อวิเคราะห์-แก้ไขปัญหา (Computational Thinking) และมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)
3. Diversify Higher Education Pathways เพิ่มความหลากหลายของอุดมศึกษา เยาวชนเลือกเส้นทางตามความสนใจและความชอบของตนได้เอง ตระหนักรู้ว่าตนถนัดอะไร มีสายอาชีพให้เลือกหลากหลาย แนะนำเส้นทางต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก
4. Encourage Lifelong Learning ยุคต่อไปคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมหาวิทยาลัยต้องคอยติดตาม พร้อมตอบสนองว่าคนที่จบไปแล้วประสงค์กลับมาเรียนอะไร
5. Broadening The Role of Universities มหาวิทยาลัยไม่หยุดหน้าที่เพียงแค่สอน-วิจัย แต่เพิ่มบทบาททางสังคมและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น
ข้อมูลโดย : https://eng.cmu.ac.th/?p=28901