อวัยวะของช่องปากประกอบด้วย ริมฝีปาก กระพุงแก้ม พื้นใต้ลิ้น ลิ้น เหงือกและเพดานแข็ง อวัยวะเหล่านี้แม้อยู่ใกล้ชิดกันแต่มีความสำคัญและทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวและกลืนอาหาร รวมถึงเป็นอวัยวะสำคัญในการพูดเปล่งเสียง ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หมากพลู อาการเริ่มแรกของมะเร็งช่องปากอาจมาด้วยแผลในปากคล้ายแผลร้อนในดังนั้นหากมีแผลเรื้อรังในปากที่ไม่หายไปก็อาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งช่องปากได้
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (world health organization, WHO) มะเร็งช่องปากอยู่ในลำดับที่ 17 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมีอุบัติการณ์ในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากอยู่ที่ 4 รายต่อประชากร 1 แสนราย และมีอัตราเสียชีวิตประมาณร้อยละ 50 ในประเทศไทยพบอัตราการเกิดมะเร็งช่องปากเป็นอันดับที่ 9 จะสังเกตว่ามะเร็งช่องปากเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศแถบเอเชีย มากกว่าเช่น อินเดีย ไต้หวัน เนื่องจากยังนิยมเคี้ยวหมากอยู่
ลิ้นเป็นอวัยวะที่เกิดมะเร็งช่องปากบ่อยที่สุด เนื่องจากสารก่อมะเร็งที่รับไม่ว่าจะมาจากบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์จะอยู่น้ำลายและกองอยู่บริเวณใต้ลิ้นและข้างลิ้น ดังนั้นลิ้นและพื้นใต้ลิ้นจะสัมผัสสารก่อมะเร็งตลอด นอกจากนี้การมีแผลในช่องปากเรื้อรังไม่ว่าจะจากฟันกัดโดนเนื้อเยื่อในช่องปาก สุขภาพอนามัยฟันในช่องปากที่ไม่ดี หากเกิดขึ้นบ่อยโดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเป็นสาเหตุของการนำไปสู่การเป็นมะเร็งช่องปากได้เช่นกัน
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก
-ยาสูบ บุหรี่ (สาเหตุหลัก)
-แอลกอฮอล์ (สาเหตุหลัก)
-เคี้ยวหมาก (โอกาสทำให้เกิดมะเร็งตรงกระพุ้งแก้มสูง)
-สุขภาพฟัน ช่องปากที่ไม่ดี หรือมีการอักเสบเรื้อรัง
อาการแสดง
-แผล ก้อนแข็งใต้เยื่อบุ ช่องปาก
-ฝ้า ปื้นสี ขาวหรือแดงช่องปาก
-ฟันโยก ฟันหลุด
-มีเลือดออกผิดปกติในช่องปาก
-ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
ความแตกต่างระหว่างแผลร้อนใน และมะเร็งช่องปาก
ลักษณะแผลร้อนในจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก และตื้น ก้นแผลเป็นสีค่อนข้างเหลืองหรือสีเทา ขอบจะแดง นูนเล็กน้อยมาก มีการเจ็บ แต่ในขณะที่มะเร็งในช่องปากมักจะเป็นก้อนนูน แข็ง มะเร็งช่องปากในระยะเริ่มแรกมีลักษณะคล้ายแผลในช่องปากที่ไม่ใช่มะเร็งได้ บางครั้งต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา
โดยทั่วไปสามารถสังเกตได้ดังนี้
-แผลร้อนในที่ไม่รุนแรง ขนาดเล็ก 1 เซนติเมตร มักจะหายเองภายใน 7-10 วัน
-หาก 7-10 วันไม่หาย หรือมากกว่า 2 สัปดาห์ไม่หาย อาจจะไม่ใช่แผลร้อนในแต่อาจเป็นมะเร็งช่องปากระยะเริ่มแรกได้ดังนั่นหากแผลมีอาการแสบร้อน เกิน 2 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจจากแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อหารอยโรค หรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
การตรวจคัดกรองความเสี่ยง
-ตรวจด้วยตัวเองว่าบริเวณช่องปากมีความผิดปกติหรือไม่ ในขณะที่แปรงฟัน โดยใช้นิ้วที่สะอาดสำรวจก้อนเนื้อในบริเวณในช่องปากว่ามีลักษณะเป็นก้อนนูนหรือไม่
-ตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ
การวินิจฉัย
-ซักประวัติ และตรวจร่างกาย อาจมีการส่องกล้องร่วมด้วย
-เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
-ตัดชิ้นเนื้อวินิจฉัย
การแบ่งระยะของโรค
(ระยะต้น)
-ระยะที่ 1 และ 2 มะเร็งจะอยู่บริเวณมะเร็งต้นกำเนิด มีขนาดโตเล็กน้อยอยู่บริเวณข้างเคียงลุกลามไปยังลิ้น แต่ยังไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
(ระยะท้าย)
-ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ลุกลามเนื้อเยื่อลึกขึ้น มีมะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ
-ระยะที่ 4 เป็นมะเร็งต้นกำเนิดขนาดใหญ่ลุกลามเนื้อเยื่อหรือกระดูก ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดใหญ่หรือลุกลามออกนอกต่อมน้ำเหลือง หรือมีการกระจายของมะเร็งไปบริเวณอื่นของร่างกายเช่น ปอด
การรักษา
-การผ่าตัด
เป็นการรักษาหลักของมะเร็งในช่องปาก เนื่องจากมะเร็งในช่องปากตอบสนองต่อการฉายรังสีได้ไม่ดี ดังนั้นการผ่าตัดเป็นทางเลือกแรกเสมอ โดนเฉพาะมะเร็งช่องปากระยะเริ่มแรก หากตัดมะเร็งออกแล้วสามารถเย็บปิดได้ ผู้ป่วยจะกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ และพูดได้ หากเป็นแผลที่ใหญ่เมื่อตัดก้อนเนื้อออกไปแล้ว แพทย์ยังสามารถนำเนื้อเยื่อบริเวณแขนหรือขา มาซ่อมเสริมเนื่อเยื่อที่ผ่าตัดไปให้ผู้ป่วยสามารถพูดและรับประทานอาหารได้
-รังสีรักษา จะเลือกการรักษาวิธีนี้เมื่อการผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลกระทบการทำงานของช่องปากหรือเกิดความไม่สวยงาม เช่นมะเร็งริมฝีปาก นอกจากนี้เป็นการให้รังสีรักษาหลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสมะเร็งเป็นซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย
-เคมีบำบัด รักษาเสริมร่วมกับรังสีรักษา ช่วยตอบสนองให้การรักษาของรังสีรักษาดีขึ้น รวมถึงหากเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายแล้ว จะใช้เคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรคมะเร็ง
การป้องกัน
-หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปาก เช่นบุหรี่ แอลกอฮอล์
-ดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากและฟัน
-รับประทานผัก และผลไม้ งดเนื้อแดง (จะช่วยลดการเกิดมะเร็งบริเวณศีรษะและคอได้)
-หากมีแผลในช่องปากเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์
มะเร็งช่องปากหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีโอกาสรักษาหายขาดสูงและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้อยมาก แม้แต่มะเร็งช่องปากระยะท้าย หากโรคยังไม่แพร่กระจายไปบริเวณอื่นของร่างกายเช่น ปอด ยังมีโอกาสรักษามะเร็งช่องปากให้หายขาดได้เช่นกัน จึงไม่ควรกลัวการพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษา แนะนำให้ตรวจสุขภาพฟันกับทัตแพทย์เป็นประจำ หากมีความผิดปกติในช่องปาก หรือร้อนใน ทันตแพทย์สามารถรักษา หรือส่งมายังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหู คอ จมูก เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาโรคต่อไป.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.นพ.หาญพล ขลิบเงิน อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ มะเร็งวิทยา และศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนฯ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่