นักวิจัยคณะวิทย์ มช. นำทีมศึกษาผลของการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากพืชที่ใช้ในการบริโภคและการแพทย์ทางชาติพันธุ์

23 พฤษภาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

             อาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือกับอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ และอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันศึกษาผลของการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากพืชที่ใช้ในการบริโภคและการแพทย์ทางชาติพันธุ์ (Elsholtzia stachyodes) ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งมีความสนใจในการค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการกำจัดเซลล์มะเร็งโดยการใช้แอนติบอดี (antibody) ที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จากฝีมือของทีมนักวิจัยไทย โดยความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การขยายขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย จากทรัพยากรที่สามารถหาได้หรือผลิตได้เองในประเทศไทย

ในกระบวนการวิจัย นักวิจัยได้ทำการเก็บพืชในสกุล Elsholtzia ที่มีการใช้ในการบริโภคและการแพทย์ทางชาติพันธุ์ในชาวกะเหรี่ยง อาข่า นำมาทำการสกัดเป็นสารสกัดหยาบและสารแยกส่วน จากนั้นทดสอบการออกฤทธิ์ต่อเซลล์เชื้อสายมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวน 3 ชนิด (K562, U937, Raji) รวมถึงทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ (Peripheral Blood Mononuclear Cells: PBMCs) โดยสารสกัดที่ออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ดี และมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติน้อย จะถูกเลือกนำไปทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดด้วยเทคนิค HPLC และ LC-MS

นอกจากนี้ ยังทำการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารด้วยเทคนิค Semi quantitative and Quantitative RT-PCR, western blot และ Multispectral Imaging Flow Cytometry (MIFC)

ในการทดลองการใช้แอนติบอดี เพื่อศึกษาผลต่อการกระตุ้น และเหนี่ยวนำการตายของเซลล์มะเร็งนั้น ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาโดยใช้แอนติบอดี้ที่จำเพาะต่อโปรตีนซีดี 147 (CD147) ทดสอบการเหนี่ยวนำให้เกิดการตายในเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ จำนวน 9 ชนิด (U937, A549, K562, Raji, SupT1, HepG2, HeLa, Hep3B, Huh7) โดยอาศัยเทคนิค flow cytometry, semi quantitative and quantitative RT-PCR, confocal microscopy, western blot และ genetic manipulation เพื่อใช้ในการศึกษาและยืนยันกลไกที่กระตุ้นให้เกิดการตายภายในเซลล์มะเร็ง 

จากผลการศึกษาพบว่า สารแยกย่อยจากพืช Elsholtzia Stachyodes หรือ ผักฮาน ในภาษาท้องถิ่นามารถออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 3 ชนิดได้ดีที่สุด และยังมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติที่ต่ำ

จากการศึกษาองค์ประกอบของสารแยกส่วนจากพืชชนิดนี้ พบว่ามีสารในกลุ่ม Luteolin และ Apigenin เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งผ่านกลไกที่หลากหลาย และจากการศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารแยกส่วนจากพืชชนิดนี้สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์เชื้อสายมะเร็งเกิด ER-stress, Cell cycle arrest, Autophagy และนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งในรูปแบบ Apoptosis

นอกจากนี้ จากการทดลองใช้แอนติบอดีที่จำเพาะต่อโปรตีนซีดี 147 ในเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ พบว่า แอนติบอดีที่จำเพาะต่อโปรตีนซีดี 147 โคลน M6-1D4 สามารถให้ผลดีที่สุดในการกระตุ้น และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายในกลุ่มเซลล์มะเร็งตับ ในรูปแบบ non-canonical necroptosis ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการตายของเซลล์ที่สามารถพบเจอได้บ่อยโดยทั่วไป

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาและพัฒนาสารต้านมะเร็งชนิดใหม่ ๆ จากความรู้ในท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากแอนติบอดีที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จากฝีมือทีมนักวิจัยไทย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น และยังสามารถพัฒนาเป็นยา เพื่อใช้ในการรักษามะเร็ง หรือใช้ควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้ประสบผลสำเร็จดีขึ้น

บทความตีพิมพ์ในวารสาร
1. Biomedicine & Pharmacotherapy, 2023-04-01
2. Biochimica et Biophysica Acta (BBA) - Molecular Cell Research, September 2022 

ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่
https://doi.org/10.1016/j.biopha.2023.114375
https://doi.org/10.1016/j.bbamcr.2022.119295


นักวิจัย
อาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาและเซลล์วิทยา (2903) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร. ภัทรพล ลีธนัชอุดม, นายเมธพงศ์ กุลอภิสิทธิ์, นายกัมปนาท พรหมโลก โดยความร่วมมือกับ รศ.ดร. เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร. จิระประภา วิภาษา ศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลและเซลล์วิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร. อังคณา อินตา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร. พิชญา มังกรอัศวกุล ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่