เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะผู้บริหาร โครงการหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ สหรัฐอเมริกา เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า และแผนการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับกลุ่มวิจัยไอซ์คิวบ์ในอนาคต ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยไทยที่ร่วมศึกษาวิจัยกับกลุ่มวิจัยไอซ์คิวบ์ ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย
สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ หรือ ไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ใกล้สถานีขั้วโลกใต้ อมันด์เซน-สก็อตต์ ในทวีปแอนตาร์กติก สร้างเสร็จเมื่อปีคริสต์ศักราช 2010 เป็นเครื่องตรวจวัดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการร้อยอุปกรณ์ Digital Optical Module ผ่านลวดสตริงจำนวนมาก ฝังลึกลงไปใต้น้ำแข็ง ความรู้ที่ได้จากการสร้างหอสังเกตการณ์ และการศึกษาอนุภาคที่วัดได้จากเครื่องตรวจวัดนั้น จะนำมาซึ่งองค์ความรู้มหาศาลที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
ประเทศไทย มีความร่วมมือกับไอซ์คิวบ์ ในโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนและภาคีความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในปี 2565 มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายทุนฯ เพื่อพระราชทานให้นักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2 ทุน เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการด้านซอฟต์แวร์ของไอซ์คิวบ์ และเรียนรู้เรื่องงานวิจัยของหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ในเชิงลึก
ทั้งนี้ ความร่วมมือของไทยกับไอซ์คิวบ์จะก่อให้เกิดการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ของนิวทริโนพลังงานสูงจากอวกาศและเครื่องตรวจวัดเชเรนคอฟน้ำแข็ง (IceCherenkov) การพัฒนาวิศวกรรมขุดเจาะน้ําแข็งด้วยการส่งวิศวกรไปเรียนรู้เชิงวิศวกรรมที่ University of Wisconsin - Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา และปฏิบัติภารกิจ ณ ขั้วโลกใต้ รวมถึงการพัฒนาทางด้าน อิเล็กทรอนิกส์ FPGA ของ DOM ในโครงการ IceCube Upgrade (เพิ่มลวดสตริงที่แก่นของเครื่องตรวจวัดที่ขั้วโลกใต้) และ IceCube Gen 2 (ขยายขนาดของเครื่องตรวจวัดมากกว่า 10 เท่าจากขนาดปัจจุบัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจวัดนิวทริโนพลังงานสูงกว่า EeV) ด้วย
อ่านต่อ ข่าวในพระราชสำนัก