คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดเทศกาลภาพยนตร์หนังเหนือสู่หนังโลก “Golden North Film Festival 2024” ภายใต้แนวคิด Rising Multiculture from Local to Global ระหว่างวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2657 ณ ออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร (Communication Innovation Center: CIC) คณะการสื่อสารมวลชน ภายในงานมีการจัดเสวนาโดยนักวิชาการ นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง การฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วประเทศและภาพยนตร์สะท้อนอัตลักษณ์ล้านนาที่ผลิตขึ้นโดยทีมผู้ผลิตท้องถิ่นภาคเหนือที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของเทศกาลฯ พร้อมประกาศผลภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล เตรียมผลักดันผลงานเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติต่อไป
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดฉายภาพยนตร์เล่าสารคดีท้องถิ่นและเล่าเรื่องบันเทิงคดีจากผู้สนใจที่ส่งเข้ามาจากทั่วประเทศและผ่านการคัดเลือกจากผู้จัดเทศกาลฯ จำนวน 14 เรื่อง และการเสวนาในหัวข้อ “ตำแหน่งแห่งที่ของท้องถิ่นไทยในภาพยนตร์” โดยอาจารย์ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณธิติ ศรีนวล (ต้องเต) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ จากภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ
พิธีเปิดจัดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับเกียรติจาก รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดเทศกาลฯ พร้อมรับชมภาพยนตร์สะท้อนอัตลักษณ์ล้านนาที่ผลิตขึ้นโดย 5 ทีมผู้ผลิตท้องถิ่นภาคเหนือที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 5 เรื่อง พร้อมประกาศผลภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลและจัดพิธีมอบถ้วยรางวัลโดยศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน ดังนี้
1. รางวัล Gold Award ผลงานภาพยนตร์เรื่อง คีตาไชยะ (Keetachiya)
2. รางวัล Silver Award ผลงานภาพยนตร์เรื่อง อุบัติชีวิต พิชิตรถแดง (Quantum Red Car)
3. รางวัล Bronze Award ผลงานภาพยนตร์เรื่อง สัตตภัณฑ์ (Sattapan)
4. รางวัล Honorable Mention Award ผลงานภาพยนตร์เรื่อง ภวังค์จิต (The Illusion) และ ลำบ่ลืม (An Eternal Flavor)
เทศกาลภาพยนตร์หนังเหนือสู่หนังโลก “Golden North Film Festival” ดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนายกระดับการสร้างภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลกและพัฒนากำลังคนที่เชี่ยวชาญระดับสากล โดยใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยมี รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน เป็นที่ปรึกษาโครงการ และผศ.นันทสิทธิ์ กิตติวรากูล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร คณะการสื่อสารมวลชน เป็นหัวหน้าโครงการ
สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ได้เปิดรับสมัครผู้ผลิตภาพยนตร์ท้องถิ่นภาคเหนือที่สนใจและพิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมสร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรมล้านนาและการสร้างภาพยนตร์ โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ พร้อมให้นำเสนอ (Pitching) โครงเรื่องภาพยนตร์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ล้านนา 5 ด้าน ประกอบด้วย Food, Faith, Fashion, Fighting, Festival โดยคณะกรรมการได้คัดเลือก 5 ทีมสุดท้าย มอบทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และจัดให้มีนักวิชาชีพด้านการผลิตภาพยนตร์และวัฒนธรรมล้านนาคอยให้คำปรึกษา ช่วยเสริมทักษะและพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ท้องถิ่น จากนั้นนำผลงานมาจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์หนังเหนือสู่หนังโลก “Golden North Film Festival 2024” โดยผลงานที่ได้รับรางวัลจะผลักดันให้นำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ตามแนวคิด “Rising Multiculture from Local to Global”
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ดำเนินกระบวนการวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมทุกขั้นตอน การวิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการผลิต การสนทนากลุ่มกับผู้สร้างภาพยนตร์ รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้ชม เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ พัฒนาไปสู่แนวทางในการส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาสร้างสรรค์ผ่านการผลิตภาพยนตร์ และอาจผลักดันไปสู่นโยบายในระดับประเทศได้ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทรศัพท์ 0 5394 2713
อีเมล cic@cmu.ac.th
Facebook Page: CIC CMU