นักวิจัย มช. พัฒนาเครื่องวัดปริมาณฝุ่นและคุณภาพอากาศ ด้วย Sensor และแสง Laser พร้อมส่งข้อมูลออนไลน์แบบ Real Time

24 ธันวาคม 2561

คณะวิทยาศาสตร์

นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยฟิสิกส์ประยุกต์ มช. เล็งเห็นความสำคัญในการรายงานค่าฝุ่นละอองแบบระบบเรียลไทม์ พัฒนาเครื่องวัดปริมาณฝุ่นและคุณภาพอากาศแบบออนไลน์ ตรวจวัดสภาวะแวดล้อมด้านคุณภาพอากาศ อาทิ ปริมาณฝุ่นละออง อุณหภูมิอากาศ ความชื้นในอากาศ ฯลฯ ส่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตคลาวด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภาพ ชูพันธ์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นพิษ 2.5 ไมครอน เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และเกิดขึ้นในภาคเหนือช่วงต้นปีทั้งจากการเผาในที่โล่งรวมถึงความหนาแน่นของการคมนาคมขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ปี 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษ 2.5 ไมครอน ห้าอันดับแรกคือ เชียงใหม่(อ.เมือง) ขอนแก่น(อ.เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ) กรุงเทพฯ(ดินแดง) และสมุทรสาคร(อ.เมือง) ตามลำดับ ระดับมลพิษทางอากาศที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ อากาศที่สะอาด คือคุณภาพชีวิตที่ดีของคน ดังนั้น ดัชนีสำคัญในการชี้วัดคุณภาพอากาศคือ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งในปัจจุบันนี้กรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศโดยที่รวม 2.5 ไมครอน เข้าไปด้วย มีการคำนวณเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน เท่านั้น นี่คือปัญหาที่เร่งด่วน และสำคัญต่อชีวิตของทุกคน อีกทั้งปัญหามลพิษหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศที่เกิดขึ้นในช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกว่า 2,000 ล้านบาท และทำให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคมะเร็งปอด จากการวิจัยของนายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่) ดังนั้นคนเชียงใหม่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดสูงถึง 2 เท่าของคนในภาคอื่น หากปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองเชียงใหม่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผลแล้ว น่าเป็นห่วงว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จังหวัดเชียงใหม่จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ข้อมูลโดย : Faculty of Science
ไฟล์แนบ
แกลลอรี่