มหาสังฆทาน 9 วัด ครั้งที่ 42

1 มิถุนายน 2564

คณะบริหารธุรกิจ

"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภู นิมานันท์ คณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ธีรานุพัฒนา รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งบุคลากรคณะฯ ร่วมทำบุญโครงการมหาสังฆทาน 9 วัด ครั้งที่ 42 เพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันวิสาขบูชา ถวายแด่ วัดหมื่นล้าน วัดแสนฝาง วัดหมื่นสาร วัดหมื่นตูม วัดหมื่นเงินกอง วัดพันอ้น วัดพันแหวน วัดพันเตา วัดพันตอง ถวายระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2564 จัดโดยคณะบริหารธุรกิจร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยวัดในโครงการมหาสังฆทาน 9 วัด ครั้งที่ 42 นี้ เป็นวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

1) วัดหมื่นล้าน ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2002 ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ในราชวงศ์มังราย ผู้สร้างวัดหมื่นล้านคือ “หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว” เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในสงครามอยุธยา-ล้านนา

2) วัดแสนฝาง สร้างขึ้นในสมัยพระญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณปี พ.ศ. 2119 แต่เดิมเรียกกันว่า “วัดแสนฝัง” ที่มาของชื่อนี้ พระเจ้าแสนภูทรงมีพระราชประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้กับพุทธศาสนา จึงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น คำว่า “แสน” มาจากชื่อของพระเจ้าแสนภู คำว่า “ฝัง” คือการบริจาคพระราชทรัพย์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดแสนฝัง” หรือ “วัดแสนฝาง” มาตราบเท่าทุกวันนี้

3) วัดหมื่นสาร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2069 ในสมัยแผ่นดินพระเมืองเกษเกล้า แห่งราชวงศ์เม็งราย ขุนนางยศชั้นหมื่น ชื่อ หมื่นหนังสือวิมลกิตติ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ได้เป็นผู้สถาปนาวัดแห่งนี้ วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดหมื่นสาร วัดแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับชาวญี่ปุ่น

4) วัดหมื่นตูม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2021 ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว คำว่า หมื่นตูม เดิมเป็นขุนนางท่านหนึ่ง มียศบรรดาศักดิ์เป็น หมื่น ส่วนของท่านชื่อ ตูม ได้นำญาติ บริวาร ศรัทธาประชาชน ร่วมกันช่วยสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา เมื่อสร้างวัดนี้เสร็จ จึงเรียกชื่อว่า วัดหมื่นตูม ตามชื่อผู้นำสร้างถวาย

5) วัดหมื่นเงินกอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากือนา ระหว่าง พ.ศ. 1882 – 1916 หมื่นเงินกอง เป็นชื่อของมหาอำมาตย์ตำแหน่ง ""ขุนคลัง"" เป็นผู้สร้างวัด ""หมื่นเงินกอง"" เพื่อเป็นอนุสรณ์ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ท่านได้รับ

6) วัดพันอ้น สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2044 ใน รัชสมัยของพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว) คำว่า “พันอ้น” นั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นชื่อผู้สร้างวัดที่ถวายไว้กับพระพุทธศาสนา และผู้สร้างเป็นทหารหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์เป็น “พัน”

7) วัดพันแหวน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2040 โดยขุนนางยศ “พัน” ชื่อว่า “แหวน” จึงเรียกชื่อวัดว่า “พันแหวน” ตามผู้สร้างวัด ซึ่งการตั้งชื่อวัดตามนามผู้สร้างนั้นถือเป็นธรรมเนียมนิยมในการสร้างวัดราษฎร์ของล้านนาในสมัยนั้น

8) วัดพันเตา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2040 เดิมเป็นเขตสังฆาวาสและพื้นที่หล่อพระอัฎฐารสของวัดเจดีย์หลวง ต่อมาได้สร้างเป็นวัดพันเตา แต่เดิมคนเชียงใหม่เรียกที่นี่ว่าวัด “ปันเต้า” (พันเท่า) อันหมายถึงการที่มาทำบุญเพียงหนึ่งจะได้บุญกลับไปเป็นพันเท่า ภายหลังเพี้ยนเป็น “พันเตา” อีกที่มาหนึ่ง น่าจะมาจากการใช้วัดนี้เป็นแหล่งสร้างเตาหล่อพระนับร้อยนับพันเตา จึงได้ชื่อว่า “วัดพันเตา”

9) วัดพันตอง แต่เดิมชื่อว่า “วัดพระงาม” สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2000 ในสมัยราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และกลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรก ได้เกณฑ์คนมาจากบ้านฮ่อม เมืองเชียงแสน มาตั้งรกรากบริเวณวัดร้างแห่งนี้ ชาวบ้านฮ่อมจึงช่วยกันบูรณะและตั้งชื่อว่า “วัดพันทอง” ตามน้ำหนักของทองพันชั่ง ซึ่งเป็นน้ำหนักของพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่นำมาจากเชียงแสนด้วย ต่อมาชื่อเพี้ยนมาเป็น “วัดพันตอง” จนกระทั่งปัจจุบัน"
ข้อมูลโดย : https://www.ba.cmu.ac.th/th/accba010664
แกลลอรี่