อตีตกาล นานกว่าทศวรรษ วิศวฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำรงตนคู่ไว้ ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร ล่าสุดทอดกฐินสามัคคีสานต่อโครงการบูรณะบันไดนาค และกำแพงวัด

11 มกราคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

  

อตีตกาล นานกว่าทศวรรษ วิศวฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำรงตนคู่ไว้ ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร ล่าสุดทอดกฐินสามัคคีสานต่อโครงการบูรณะบันไดนาค และกำแพงวัด

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอดีตคณบดี นักวิจัย และบุคลากร นำตน ถวายใจด้วยศรัทธา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยเลือกวัดป่าแดงมหาวิหารเป็นหลัก ด้วยประวัติ ณ อดีตกาลของวัด ทรงคุณค่าเปี่ยมล้นทั้งทางประวัติศาสตร์ล้านนา และพุทธศาสนา ล่าสุดคณะฯ จับมือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เดินหน้าโครงการปรับปรุงแก่ไขบันไดนาคและกำแพงวัดป่าแดงมหาวิหาร โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ทำการทอดกฐินสามัคคีเพื่อบูรณะสิ่งต่าง ๆ ตามโครงการฯ ดังกล่าว

วัดป่าแดงมหาวิหาร หรือ รัตตนวนราม ตั้งอยู่เลขที่ 71 หมู่ 14 (บ้านใหม่หลังมอ) ซอย 4 ถนนสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินทั้งหมด 3 แปลง เนื้อที่ 17 ไร่ 66 ตารางวาปัจจุบันมีพระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1974 โดยพระเจ้าติโลกราช

ความทรงค่าของวัดแห่งนี้เรื่มจากกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย ให้สถานข้างต้นเพื่อเป็นที่พำนักของพระมหาญาณคัมภีร์และคณะซึ่งเดินทางกลับจากการศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศศรีลังกา ขณะเดียวกันพระมหาญาณคัมภีร์ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกพระพุทธรูป และต้นโพธิ์มาปลูกในวัดแห่งนี้ ทั้งยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายสิงหลในล้านนาไทย พระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงผนวชชั่วคราว ณ อารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.1990 โดยมีพระมหาญาณมงคลเป็นพระราชอุปัชฌาย์ พร้อมพระอตุลสกัตยาธกรณะเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ยามสิ้นราชวงศ์เม็งราย เชียงใหม่อยู่ใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี ทำให้วัดป่าแดงฯ ถูกทอดทิ้งจนชำรุดทรุดโทรม ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ได้มีการสร้างที่พักสงฆ์ขึ้น จนมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษามาถึงปัจจุบัน

นิมิตมหายอันดี เกิดเมื่อปี 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สนับสนุนการทำนุบำรุงอารามอันทรงคุณค่าแห่งนี้ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์บุกเบิกโครงการศึกษาลักษณะการใช้พื้นที่วัดป่าแดงมหาวิหาร ศึกษาลักษณะการใช้พื้นที่ของวัดและจัดทำลักษณะภูมิประเทศ (Topography) เพื่อใช้ผลจากการศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และผังแม่บทการใช้พื้นที่ของวัด จากนั้นโครงการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงฯ อย่างยั่งยืน จึงเดินหน้าได้นับแต่ปี พ.ศ. 2552 หนึ่งในคณะทำงาน คือ ทรัพยากรณ์บุคคลด้านต่าง ๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สมัยการบริหารของอดีตคณบดี รองศาสราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ซึ่งคณะฯ เริ่มต้นจัดทำแผนแม่บท หลังจากระดมสมองระหว่างภาคีนักวิจัยร่วม ของ มช. 4 คณะ 1 สถาบัน คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิจิตรศิลป์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม กับเจ้าอาวาส รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อวางกรอบในการศึกษา ทั้งในเรื่องของประวัติและการใช้พื้นที่ในวัด มีการสำรวจการใช้พื้นที่ภายในวัด และจัดทำแผนที่ Topography ศึกษาประวัติพุทธศาสนาลัทธิวัดป่าแดงจากคัมภีร์ใบลาน พงศาวดาร เอกสาร หลักฐาน บันทึก ตลอดจนจารึก ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ รวมถึงขอบเขตทางกายภาพของวัดป่าแดงฯ ที่เกี่ยวข้องกับ มช. พร้อมชุมชนที่ใกล้เคียง จัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังข้อเสนอแนะ และรับฟังข้อมูลจากตัวแทนจากวัด นักวิชาการ และชุมชน ครอบคลุมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงและศิลปกรรมของวัด ระดมสมองระหว่างนักวิจัยร่วมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสรุปข้อมูลสาระสำคัญ ประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และผังแม่บทของการใช้พื้นที่วัด ครอบคลุมถึงการจัดทำประชาพิจารณ์ เสนอผลการศึกษาและทำความเข้าใจกับชุมชน จนได้ผังผังแม่บทการใช้พื้นที่ของวัดป่าแดงมหาวิหารฉบับสมบูรณ์

     

นอกเหนือจากนั้น คณะวิศวกกรรมศาสตร์ ยังคงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยอาศัยวัดป่าแดงเป็นร่มกาสาวพัสตร์ ดำเนินโครงการ ต่าง ๆ เรื่อยมา เช้น จัดพิมพ์หนังสือขนาด เอ 3 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหาร และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ความรู้จากโครงการฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการสร้างกุฏิ 600 ปี พระเจ้าติโลกราช จัดพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ค “วัดป่าแดงมหาวิหาร อดีต ปัจจุบัน อนาคต” แผ่นพับประชาสัมพันธ์ พร้อมจัดงานถวายผ้ากฐินพระราชทานราวเดือนตุลาคม 2554 แม้ในวาระการดำรงตำแหน่งของคณบดีที่เปลั่ยนไปเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ วรยศ ก็ยังคงสานต่อโครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหาร โดยดำเนินการสร้างห้องน้ำดังความประสงค์ของวัด มุ่งหวังเป็นต้นแบบแม่พิมพ์แก่วัดอื่น ๆ ในจังหวัด ตลอดจนในระดับสากล การบริจาครถตู้นิสสันเพื่อประโยชน์ ในการพัฒนาพุธศาสนา และกิจการของคณะสงฆ์ ทอดกฐินสามัคคี ๕๐ ปี วิศวฯ มช. รวมถึงการถวายเทียนะรรษา และจัดพิธีทำบุญเนื่อในโอกาสมงคลต่าง ๆ เรื่อยมา

    

   

ช่วงรอยต่อของการผลัดเปลี่ยนคณบดีมาเป็น รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย ฟองสมุทร ณ ปัจจุบัน การดำรงตนคู่วัดแห่งนี้ยังคงสานต่อสืบมา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จับมือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เดินหน้าโครงการปรับปรุงแก้ไขบันไดนาคและกำแพงวัดป่าแดงมหาวิหาร ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ จนเมื่อวันพุธที่ 17 พฤษศจิกายน 2564 ถือเป็นมงคลฤกษ์อีกครั้ง ที่วิศวฯ มช. จัดงานทอดกฐินสามัคคี เพื่อรวบรวมปัจจัยที่ได้จำนวน 305,429.50 บาท ถวายไว้ ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร เพื่อใช้ดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขบันไดนาคและกำแพงวัดป่าแดงมหาวิหารให้คืบหน้า จนสำเร็จโดยสมบูรณ์ต่อไป

   

สิริรวมกาลเวลาที่ นับเป็น 13 ปี กับอีก 5 เดือน ย้ำเตือน “อดีตกาล...นานกว่าทศวรรษ” ที่คณะวิศวกรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธำรงตนคู่วัดป่าแดงมหาวิหารอันทรงค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ พร้อมกาลอันผันผ่านแห่งลัทธิศาสนา ด้วยจิตอันนอบน้อมศรัทธา และยังคงไว้ ซึ่งปณิธาณอันดีของพุทธศาสนิกชน การทำนุบำรุงศาสนาของคณะวิศวฯ ซึ่งเอื้อแก่วัดป่าแดงฯ นี้ จะยังคงถูกสืบสานต่อไปอย่างไม่มีวันจบ เป็นแท้แน่นอน

แกลลอรี่