ITD สภาอุตฯและศูนย์ CIC มช. หนุนการจัดตั้ง Fulfillment Center ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อรุกตลาดจีนผ่านกลไก CBEC

19 กันยายน 2567

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

        สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมกับศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ดำเนินกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็น “มิติการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce สู่ตลาดประเทศจีน” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ กว่า 70 คน ณ ห้องประชุมกมลมาศ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567
        คุณสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่าสถาบัน ITD มีภารกิจในด้านการศึกษาวิจัย การจัดกิจกรรมฝึกอบรม ประชุม สัมมนา เพื่อพัฒนาศักยภาพ ของบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทาง เศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้สามารถทำ การค้า ไปยังตลาดต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ทางสถาบัน ITD ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากฐาน สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
        การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยขยายตลาดไปยังประเทศจีน โดยนับตั้งแต่จีนได้เปิดประเทศ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้สินค้าจาก ต่างประเทศเข้ามาขายในตลาดจีน จะเห็นได้ว่าจีนได้ผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดตั้ง ศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การค้าผ่านช่องทาง CBEC ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าการซื้อ ขายสูง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME ไทย ทำการค้าผ่านช่องทาง CBEC จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ให้มีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ รวมถึงมีระบบการติดตามและการบริหารจัดการคลังสินค้าที่มาตรฐาน เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        ร้อยโท ดร.พันธ์รบ ราชพงศา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce (CBEC) สู่ตลาดประเทศจีน ซึ่งสถาบันฯได้มอบหมายให้ ศูนย์ CIC วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน มีเป้าหมาย ทั้งในมิติ การให้บริการโลจิสติกส์ (Logistic Flow) การชำระเงินระหว่างประเทศ (Financial Flow) และการเข้าสู่ตลาดจีน (Information Flow) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขยายตลาดออกสู่ประเทศจีน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้า CBEC เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน และเข้าไปทำการค้าในตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น
        คุณสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดนและผ่านแดน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรร่วมจัดของโครงการฯกล่าวว่า CBEC ถือเป็นช่องทางส่งเสริมให้ SMEs ไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่สินค้าจีนรุกเข้าสู่ตลาดไทยผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเช่นกัน ทั้งนี้สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมถึงคณะทำงานค้าชายแดนและผ่านแดน เล็งเห็นถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์จาก CBEC ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้าชายแดนและผ่านแดนไทย-จีน ซึ่งจากข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศพบว่า รูปแบบการส่งออก-นำเข้าผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนยังมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของการส่งออกนำเข้าของกลุ่มธุรกิจ CBEC
       ในการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ได้แนะนำขั้นตอนการใช้ประโยชน์จากCBEC สำหรับสินค้า SMEs ไทยสู่ตลาดจีน ทั้งในรูปแบบ 1) CBEC C2C (Personal Shipment) เดินพิธีการศุลกากรขาเข้าผ่านด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน 2) CBEC B2C(9610) และ B2B2C (1210) เดินพิธีการศุลกากรผ่านด่านศุลกากรพิเศษ CBEC ที่มีอยู่ในทุกมณฑลของประเทศจีน ทั้งสองรูปแบบถือเป็นขั้นตอนการเข้าสู่ตลาดจีนในระยะเริ่มต้นที่ SMEs สามารถเลือกใช้นำร่องเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน ก่อนจะยกระดับไปสู่การนำเข้าแบบปกติเมื่อมีความพร้อม ซึ่งศูนย์ China Intelligence Center ได้จัดทำกลไกบ่มเพาะที่เริ่มจากการวิจัยตลาดปลายทางผ่านการศึกษา Digital Foot Print ในแต่ละคลัสเตอร์สินค้า การทดลองตลาดผ่านกิจกรรมวิพากษ์ผลิตภัณฑ์โดยกลุ่มทดลองสินค้าชาวจีน การฝึกทักษะการนำสินค้าขึ้นแพลตฟอร์ม E-commerce จีน (Information Flow) การทำช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดน (Financial Flow) และทดลองจัดจำหน่ายผ่านรูปแบบการขนส่ง (Logistics Flow) สำหรับช่องทาง CBEC C2C รวมถึงการแนะนำช่องทางจัดจำหน่ายแบบ O2O ที่พึ่งพาช่องทางขายผ่าน Social Network จีนควบคู่กับการหาช่องทางแสดงสินค้าในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจีนตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ของประเทศไทย
        การประชุมฯได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากการจัดตั้ง Fulfillment Center บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) และภาคตะวันออก (EEC) สำหรับขนส่งสินค้าผ่านกระบวนการ CBEC ทั้งทางถนนผ่านเส้นทาง R3A ทางรางผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ทางอากาศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ และทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ปลายทางคือด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน หรือด่านศุลกากรพิเศษ CBEC ในประเทศจีน
        ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ของด่านเชียงของ ที่อยู่ใกล้กับจีนและใช้เวลาเดินทางระหว่างกันเพียง 3 ชั่วโมงหลังมอเตอร์เวย์แล้วเสร็จถือเป็นจุดแข็งสำคัญของอำเภอเชียงของบนแนวระเบียงเศรษฐกิจ NEC ขณะที่การเป็นพื้นที่เมืองชายแดนของจังหวัดหนองคายที่อยู่ใกล้กับเส้นทางรถไฟลาว-จีน หรือการมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่พร้อมต่อการเป็นคลังสินค้าบนแนวเส้นทางรถไฟไทย-จีนของจังหวัดอุดรธานีก็เป็นจุดแข็งหลักบนแนวระเบียงเศรษฐกิจ NeEC ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเพื่อการขนส่งทางอากาศอู่ตะเภาคือศักยภาพหลักด้านการขนส่งบนแนวระเบียงเศรษฐกิจ EEC ที่เหมาะสำหรับการขนส่งด่วนสินค้า CBEC ไทย-จีน
       ซึ่งข้อเสนอแนะสำคัญจากการระดมความคิดเห็นคือ 1) การผลักดันกลไกดำเนินงานในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษบน NEC และ NeEC เหมือน EEC จะเป็นกลไกที่ดึงดูดทุนจีนเข้ามาลงทุนหรือร่วมทุนในทั้งสองระเบียงเพิ่มขึ้น 2) การจัดวาง Fulfillment Center ทั้งที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หรือพื้นที่จังหวัดหนองคาย หรืออุดรธานี ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการผลักดันให้ทั้งสองพื้นที่กลายเป็นศูนย์กลางด้าน CBEC ระหว่างจีน-อาเซียน และ 3) การสร้างกำลังคนที่มีความรู้และทักษะบนแพลตฟอร์มการค้าใหม่เพื่อรองรับการค้าในระหว่างประเทศในรูปแบบ CBEC ถือเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้

แกลลอรี่