ผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง "นักวิทยาศาสตร์" กับ "นักออกแบบ"
เพื่อสรรค์สร้างวัสดุทางธรณีวิทยาให้กลายเป็นเครื่องประดับที่ทรงคุณค่า คงเอกลักษณ์ล้านนา และทันสมัย
ชมคลิป เครื่องประดับเงินรูปแบบล้านนาประยุกต์
ชมคลิป เครื่องประดับเงินรูปแบบล้านนาประยุกต์ (full version)
หากพูดถึงเครื่องเงิน หลายคนก็คงจะคุ้นเคยและนึกถึงศิลปะของทางภาคเหนือ เพราะเครื่องเงินนั้นอยู่คู่กับชาวเหนือมายาวนาน โดยนอกจากจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ปิ่นปักผม หรือเข็มขัดแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณ เช่น สลุง ขันน้ำ กระบวย พาน และปิ่นโต หรือแม้กระทั่งในวัดวาอารมหลายแห่งก็มีการประดับตกแต่งลวดลายสลักบนเครื่องเงินในบริเวณต่างๆ อย่างวิจิตร เช่น บริเวณประตู หน้าต่าง และหลังคา ที่สำคัญภาคเหนือยังมีชุมชนโบราณที่สืบต่อภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนในจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้มาจวบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ เครื่องเงินนอกจากจะเป็นของฝากล้ำค่า จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำภูมิภาคที่หากนึกถึงเครื่องเงินต้องนึกถึงภาคเหนือของไทยเป็นอันดับแรก
โดยปกติเรามักจะพบเห็นเครื่องเงินที่ทำจากเงินล้วน ไม่ได้มีการนำอัญมณีอื่นใดมาเป็นส่วนประกอบ แต่ในงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนานั้น เราได้เห็นเครื่องเงินในรูปแบบที่แปลกตา ทันสมัย ด้วยการนำมาออกแบบร่วมกับพลอยเนื้ออ่อนและหินได้อย่างสวยงาม ลงตัว และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง
ผศ.ดร.วีรพันธ์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยนี้เกิดจากจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเพิ่มมูลค่าของอัญมณีที่พบในภาคเหนือที่ยังไม่ค่อยมีการนำมาใช้ประโยชน์ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัญมณีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพลอยเนื้อแข็ง เช่น ทับทิม ส่วนพลอยเนื้ออ่อน ซึ่งเป็นพลอยที่โดดเด่นในภาคเหนือ เช่น ควอตซ์ แคลไซต์ และฟลูออไรต์ นั้นยังไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ประโยชน์มากนัก ทั้งที่เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นเครื่องประดับที่สวยงามได้หลากหลายรูปแบบ โดยในงานวิจัยนี้ นอกจากจะใช้พลอยเนื้ออ่อนแล้ว ยังนำมาออกแบบร่วมกับเครื่องเงิน เพื่อให้เป็นเครื่องประดับที่มีคุณค่าและคงเอกลักษณ์ของเมืองเหนืออย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจากทั้ง 2 สถาบันจึงได้ทำงานร่วมกัน โดยในส่วนของการสำรวจหาแหล่งวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพ และการปรับปรุงคุณภาพของพลอยนั้นเป็นหน้าที่ของนักวิจัย มช. และการออกแบบตัวเรือนเป็นหน้าที่ของนักวิจัย มทร.ล้านนา ซึ่งแหล่งวัตถุดิบที่นักวิจัยได้เข้าไปสำรวจก็มีหลายแหล่ง หลายประเภท เช่น แก้วโป่งข่าม จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน โกเมน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ฟลูออไรต์ หินลายสวยงาม จังหวัดน่าน และหินภูเขาไฟที่ถูกแทนที่ด้วยสารละลายซิลิกา เป็นต้น
สำหรับการออกแบบนั้น นักออกแบบจาก มทร.ล้านนา ได้ออกแบบให้มีลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัย สะท้อนความเป็นล้านนา เช่น ลวดลายตุง โคม หมวกชนเผ่า ภาพวาดบนฝาผนังวัด และกาแล โดยจัดเป็นเซ็ตให้เข้ากันอย่างลงตัว ทั้งสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ และแหวน หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดทำต้นแบบ แล้วนำไปให้ผู้ประกอบการเครื่องประดับในท้องถิ่นประเมินและให้ข้อเสนอแนะว่ารูปแบบที่เหมาะสมหรือที่ตลาดต้องการควรเป็นแบบใด สุดท้ายจึงมีการปรับปรุงและจัดทำเป็นต้นแบบที่พร้อมจะเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งในส่วนของวัสดุและลวดลายให้ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดต่อไป
ผศ.ดร.วีรพันธ์ ศรีจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
“เราเป็นนักวิชาการที่ทำงานร่วมกับนักออกแบบ เราผสมทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน โดยเราใช้วิทยาศาสตร์ในเชิงของธรณีวิทยานั้นไปปรับปรุง ไปหาแหล่ง และได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ... วัสดุทางธรณีวิทยาที่ปรากฏอยู่ในภาคเหนือตามแนวภูเขาไฟหลายๆ ที่ ก็ยังมีศักยภาพที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ประกอบในตัวเครื่องประดับ และคิดว่าน่าจะเป็นอีกตัวหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมในส่วนนี้ได้”
ติดตามชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และ vdo clip อื่นๆ ของคณะได้ที่ Youtube : Science CMU Official
2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Research@Sci From Sky To Rock
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind