สัตวแพทย์ มช. จับมือ นักจิตวิทยา คณะมนุษย์ พาน้องหมานักบำบัดดูแลใจนักศึกษา

3 เมษายน 2567

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ และสำนักหอสมุด ศึกษาผลการใช้สุนัขช่วยในการลดความเครียดของนักศึกษามหาวิทยาลัย ชื่อ “การศึกษานำร่องเพื่อศึกษาผลการใช้สุนัขบำบัดเพื่อบรรเทาความเครียดในนักศึกษามหาวิทยาลัย” (Preliminary Study of Effect of Dog-Assisted Therapy on Stress Relief in University Students) โดยเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายวิชาการรับใช้สังคมเพื่อสร้างผลกระทบสูง (CMU High Impact SE Network) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยให้ข้อมูลว่า “ในการศึกษาครั้งนี้จัดขึ้นที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงที่เรียกว่า Reading week เป็นสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยหยุดการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นสัปดาห์ของการอ่านหนังสือก่อนสอบ ถือได้ว่าน่าจะเป็นช่วงที่นักศึกษามีความเครียดสูงมากช่วงหนึ่ง การวิจัยนี้มุ่งเสนอการประเมินผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและจิตใจที่เกิดขึ้นในนักศึกษาภาควิชา 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 122 คน แบ่งตามเพศได้เป็นชาย 30 คน และหญิง 92 คน แบ่งตามคณะได้เป็น วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 55 คน และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 67 คน หรือแบ่งตามชั้นปีได้เป็น ชั้นปีที่ 1 จำนวน 26 คน ชั้นปีที่ 2 จำนวน 24 คน ชั้นปีที่ 3 จำนวน 45 คน ชั้นปีที่ 4 จำนวน 12 คน และชั้นปีที่ 5 ขึ้นไป จำนวน 15 คน เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลองประกอบด้วยข้อมูล 3 กลุ่ม คือ ข้อมูลแบบสอบถาม ความเครียด (Stress) ระดับความดันโลหิต (BP) อัตราการเต้นของชีพจร (HR) และระดับฮอร์โมนความเครียดในร่างกาย (Cortisol) ที่วัดจากน้ำลาย ผลการศึกษาพบว่า ค่าพารามิเตอร์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมีนับสำคัญทางสถิติ (P<0.05) หลังจากการเล่นกับสุนัขเป็นเวลา 15 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเล่น สรุปผลการศึกษาพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขบำบัดสามารถบรรเทาความเครียดของนักศึกษาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาโดยการใช้สัตว์เลี้ยงเป็นเครื่องมือ”

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แสงเดือน ยอดอัญมณีวงศ์” ทีมวิจัยจากภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมตลอดเวลา ซึ่งปฏิสัมพันธ์ทางบวกจะส่งผลดีต่ออารมณ์และความคิด ดังนั้นการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขบำบัด เช่น การพูดคุย สัมผัส อุ้ม กอดสุนัขบำบัด ร่วมกับสุนัขบำบัดที่ได้ฝึกฝนแล้วจะมีความสงบ มีปฏิกิริยาตอบสนองทางบวกกับมนุษย์ จะส่งผ่านสงบ และช่วยเหนี่ยวนำทางอารมณ์ (emotional co-regulation) ทำให้นักศึกษารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน”

ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ การเพิ่มช่องทางหรือรูปแบบการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตในเบื้องต้นสำหรับนักศึกษา รวมถึงบุคลากร นอกจากนั้นการนำสัตว์ที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วร่วมกับการช่วยเหลือทางจิตวิทยา อาจจะช่วยให้นักศึกษาและบุคลากร เข้ารับบริการทางสุขภาพจิตมากขึ้น แม้ว่าการใช้สุนัขบำบัดอาจจะไม่สามารถทดแทนการบริการหลักทางสุขภาพจิตได้ นอกเหนือจากนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัยยังมีความมุ่งมั้นจะนำไปใช้ช่วยเหลือสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

แกลลอรี่