มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำขยะมาแปรเป็นพลังงานทดแทน ตอบโจทย์การนำขยะมาสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน ต่อยอดเป็นต้นแบบให้กับชุมชน
รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน หรือ CMU Smart city clean energy waste management แบบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบครบวงจร ด้วยแนวคิด Zero Waste ลดปริมาณขยะตั้งแต่ ต้นทาง เพื่อให้เหลือขยะที่นำไปกำจัดน้อยที่สุดจนกลายเป็นศูนย์ ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ยังเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานนำกลับมาใช้ต่อไปได้อีกด้วยชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีผู้อยู่อาศัยราว 46,000 คน มีขยะส่งมายังโรงคัดแยกฯ ของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร วันละประมาณ 15 ตัน มีการใช้เครื่องจักรในการคัดแยก เพื่อนำสารอินทรีย์ หรือเศษอาหารออกจากขยะแห้ง เพื่อนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพ พลังงานทดแทน ส่วนขยะที่เหลือสามารถนำไปรีไซเคิล จากการบริหารจัดการขยะทำให้สามารถลดปริมาณขยะที่ส่งไปฝังกลบได้ตามเป้าหมายและสามารถบริหารจัดการขยะอื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของขยะ ได้แก่ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับหมักย่อยร่วม เทคโนโลยีการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจร ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถตู้สาธารณะ ขส.มช. เพื่อวิ่งรับส่งรับ – ส่งนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นพลังงานทดแทนที่มาจากขยะที่เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลจริง
นอกจากนี้ยังมีการนำขยะส่วนอื่น ๆ ไปแปรรูปเป็นพลังงาน เช่น ขยะพลาสติกได้นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF และใช้เป็นส่วนผสมของยางมะตอยกับอิฐบล็อกปูพื้นถนน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองใช้ในศูนย์จัดการชีวมวลฯ แล้ว ส่วนขยะชีวมวลถูกนำไปใช้เป็นถ่านกัมมันต์และเชื้อเพลิงอัดแท่ง กากไขมันถูกนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น รวมถึงยังมีโครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้เพื่อนำมาทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมพลาสติกที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรสามารถลดปริมาณการกำจัดขยะแบบกลบฝัง และการผลิตพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถผลิต ก๊าซชีวภาพได้วันละกว่า 900 ลูกบาศก์เมตร นำไปปรับปรุงคุณภาพและผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์ฯ 5,200 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG สำหรับรถยนต์ปีละ 18,000 กิโลกรัมต่อปี สามารถลดปริมาณการกำจัดขยะแบบฝังกลบและเผาได้ 4,050 ตันต่อปี ลดการฝังกลบ ขยะเปียกและเศษอาหารได้ 500 ตันต่อปี และลดการฝังกลบกากไขมันได้ 125 ตันต่อปี และลดการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอน (Carbon reduction) ได้ถึง 22,000 tCO2/y มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากจะสามารถจัดการกับขยะ และเปลี่ยนเป็นเป็นพลังงานทดแทน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังพร้อมต่อยอดเป็นต้นแบบให้กับชุมชนได้ศึกษา เรียนรู้และสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมตามแต่บริบทของชุมชน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ด้านนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งนี้เพื่อให้สังคมและชุมชน มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป .