CMU
หลักสูตร
แยกตามคณะ
ค้นหาหลักสูตร
ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก
หลักสูตรอื่นๆ
|
การศึกษา
การรับสมัครระดับปริญญาตรี
การรับสมัครระดับบัณฑิตศึกษา
การรับสมัครหลักสูตรนานาชาติ
ทุนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
|
คณะและหน่วยงาน
คณะ
หน่วยงาน
ส่วนงานอื่นๆ
|
TH
EN
CN
TH
EN
CN
หลักสูตร
แยกตามคณะ
ค้นหาหลักสูตร
ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก
หลักสูตรอื่นๆ
การศึกษา
การรับสมัครระดับปริญญาตรี
การรับสมัครระดับบัณฑิตศึกษา
การรับสมัครหลักสูตรนานาชาติ
ทุนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะและหน่วยงาน
คณะ
หน่วยงาน
ส่วนงานอื่นๆ
ข่าวสาร
ข่าวงานวิจัยและนวัตกรรม
ข่าวเด่น
ข่าวบุคคลเด่น
รางวัลและความภาคภูมิใจ
ประชุมสัมมนา/กิจกรรมของมหาวิทยาลัย
ภาพข่าวผู้บริหาร
ข่าวรับสมัครงาน
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ปฏิทินกิจกรรม
COVID-19 และ PM2.5
เกี่ยวกับ มช.
ประวัติความเป็นมา
60 ปี มช.
ปณิธาน/วิสัยทัศน์/พันธกิจ/ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร
อำนาจหน้าที่
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
เกี่ยวกับมช.
ข้อมูลสาธารณะ
CMU 360 องศา
SDGs
โครงสร้างองค์กรและการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แผนพัฒนาการศึกษามช. ระยะ 5 ปี
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย
คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ผู้บริหารส่วนงาน
ผู้บริหารหน่วยงาน
สภาพนักงาน
Download CMU Powerpoint Template
ช่องทางการสอบถามข้อมูล (Q&A)
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ติดต่อเรา
เสนอแนะ/ร้องเรียน
ข่าว
14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก WORLD DIABETES DAY
14 พฤศจิกายน 2566
คณะแพทยศาสตร์
วันเบาหวานโลก World Diabetes Day
ริเริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (The International Diabetes Federation IDF) และองค์การอนามัยโลก เพื่อรณรงค์สร้างความตื่นรู้ถึงภัยโรคเบาหวาน เหตุที่เลือกวันที่ 14 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นวันเกิดของเฟรเดอริก แบนติง นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ผู้ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ เป็นคนแรกที่เข้าใจแนวคิดซึ่งนำไปสู่การค้นพบอินซูลินใน พ.ศ. 2465 และทำให้ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1923 (พ.ศ. 2466)
สถานการณ์ของโรคเบาหวาน จากการรายงานของสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ในปี ค.ศ.2021 (พ.ศ. 2564) พบว่ามีประชากร 537 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 10.5 ได้รับการวินิจฉัยเป็นเบาหวาน และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 643 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และ 783 ล้านคนในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ. 2588) ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย
จากการสำรวจความชุกของเบาหวานในประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป พบความชุกร้อยละ 8.9 ในปี พ.ศ. 2557 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5 ในปี พ.ศ. 2563 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากความสามารถในการจัดการน้ำตาลในกระแสเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลินลดลง ซึ่งอาจเกิดได้จากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เรียกว่า ภาวะขาดอินซูลิน หรือเกิดจากความสามารถในการตอบสนองของร่างกายต่อฤทธิ์ของอินซูลินลดลง เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ผิดปกติทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสไม่ได้ตามปกติ และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็นกี่ชนิด?
ในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับการจัดจำแนกชนิดของเบาหวานออกเป็น 6 ชนิด ชนิดที่ทุกคนรู้จักจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ
เบาหวานชนิดที่ 1
เป็นผลจากการที่เซลล์สร้างอินซูลินหรือเบต้าเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง เกิดภาวะน้ำตาลสูงและมีภาวะเบาหวานเกิดขึ้น โดยมักเกิดในคนอายุน้อยหรือในเด็ก อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
เบาหวานชนิดที่ 2
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ในคนไทยพบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เป็นผลจากการมีภาวะดื้อต่อ มักพบในคนรูปร่างท้วมหรืออ้วน ทำให้อินซูลินที่สร้างออกมาทำงานได้ไม่ดี และไม่สามารถจะดึงให้ระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติได้ และนอกจากนี้อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และการมีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ หรือ พี่ น้อง เป็นเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดนี้
– เบาหวานชนิดผสมระหว่างชนิดที่ 1 และ 2 พบได้น้อย
– เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น มีโรคหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำให้น้ำตาลขึ้นสูง หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาการสร้างอินซูลิน
– เบาหวานที่วินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ ทั้งกลุ่มที่เป็นเบาหวานมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกระทั่งตรวจคัดกรองเมื่อเริ่มต้นการตั้งครรภ์ และเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยตรง
– เบาหวานที่ไม่สามารถแยกชนิดได้เมื่อได้รับการวินิจฉัย เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถจัดเข้าอยู่กลุ่มใดได้อาจเป็นเพราะข้อมูลในการวินิจฉัยยังไม่เพียงพอ เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเช่นผลตรวจทางภูมิคุ้มกันหรือพันธุกรรม อาจเปลี่ยนการวินิจฉัยเป็นชนิดที่จำเพาะต่อไปได้
อาการของเบาหวาน
แบ่งออกได้เป็น 2 แบบด้วยกันคือ
1. อาการของเบาหวานที่เกิดจากน้ำตาลสูงในกระแสเลือด
– ปัสสาวะบ่อย และปริมาณมาก
– กระหายน้ำ คอแห้ง และดื่มน้ำมาก
– หิวบ่อย รับประทานอาหารมาก
– น้ำหนักลด ผอมลง
– อ่อนเพลีย
2. อาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน
– หอบ ปวดท้อง ซึม จากภาวะเลือดเป็นกรด
– ตาพร่ามัว (จากการเสื่อมของจอประสาทตา)
– เป็นแผลรักษาหายยาก
– ชาตามปลายมือปลายเท้า (จากการเสื่อมของปลายประสาท)
สาเหตุของโรคเบาหวาน
สาเหตุของเบาหวานแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน
เบาหวานชนิดที่ 1 : เกิดจากการที่ร่างกายขาดอินซูลินเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อตับอ่อนทำให้สร้างอินซูลินได้น้อยลง กลุ่มนี้ต้องได้รับอินซูลินฉีดทดแทน
เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งมักพบในคนรูปร่างท้วมหรือคนอ้วน (ดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กก./ตร.ม.) ทำให้อินซูลินไม่สามารถทำงานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ปกติได้ เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะเกิดการบกพร่องในการผลิตอินซูลินร่วมด้วย ทำให้ภาวะน้ำตาลสูงและมีอาการของเบาหวานเกิดขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ประกอบด้วย
– บุคคลที่มีอายุ มากกว่า 35 ปี
– อ้วนและ มี พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง เป็นเบาหวาน
– เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาควบคุมความดันโลหิต
– มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
– ไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่าหรือเท่ากับ 250 มก./ดล.
– เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 35 มก./ดล.
– มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเคยคลอดบุตรที่น้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
– เคยได้รับการตรวจพบมีภาวะก่อน
– มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
– ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
– ผู้ที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่นเป็นโรคอ้วนรุนแรง
– ผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี
***โดยหากพบความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานอย่างเหมาะสมต่อไป
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัยเบาหวานในปัจจุบันทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยหลักจะต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลหรือน้ำตาลสะสม แนะนำให้ทำในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจทำได้โดยการเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำหรือเจาะเลือดจากปลายนิ้ว หากระดับน้ำตาลในเลือดภายหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจขณะไม่งดอาหาร มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเบาหวาน หากมีอาการของเบาหวานมีความชัดเจนว่าน่าจะเป็นเบาหวานจริง แต่หากยังไม่มีอาการของโรคเบาหวาน ควรตรวจยืนยันอีกครั้งในวันหรือสัปดาห์ถัดไป หากมีค่าสูงแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้ และการตรวจระดับน้ำตาลสะสมปัจจุบันสามารถใช้วินิจฉัยเบาหวานได้ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร แต่ต้องตรวจด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐาน หากตรวจพบระดับน้ำตาลสะสมมากกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นเบาหวาน
เราจะปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างไรไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน?
หลักสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันเบาหวาน ใช้ได้สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบไปด้วยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ การเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ร่วมกับการส่งเสริมพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่นนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดสภาวะเนือยนิ่ง งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเบาหวาน
1. ควบคุมอาหาร ควรรับประทานอาหารแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ชนิดของอาหารที่ให้พลังงานทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรเลือกกินให้หลากหลายและมีการกระจายอย่างเหมาะสม เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เลือกโปรตีนคุณภาพไม่ติดมัน และเลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ร่วมกับการรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ
2. ออกกำลังกาย ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่นในเด็กและวัยรุ่นควรเน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ผู้ใหญ่อาจเน้นทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการออกกำลังกายแบบแรงต้าน ส่วนในผู้สูงอายุเน้นการฝึกความยืดหยุ่นและการทรงตัว ให้ได้ความถี่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง หมายถึงช่วงเวลาที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนที่ เช่น นอนเล่น นั่งทำงานอยู่กับที่ นั่งเรียน/อ่าน/เขียนหนังสือ ดูโทรทัศน์หรือหน้าจอ เป็นต้น โดยควรปรับให้มีกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยเป็นเวลาสั้น ๆ ทุก ๆ 30-60 นาที และกำหนดให้เวลาในการดูโทรทัศน์หรืออยู่หน้าจอ น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
4. งดสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 30-40 เนื่องจากสารนิโคตินในระดับสูงจะส่งผลให้การทำงานของอินซูลินมีประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และ โรคไต เป็นต้น
5. งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ถ้าเป็นไปได้
6. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณ คือระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ และคุณภาพการนอนที่ดี คือนอนหลับสนิท โดยสมาพันธ์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2565 กำหนดให้ปริมาณการนอนที่เหมาะสมคือ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.ดร.นพ.กานต์ เวชอภิกุล
อาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุขภาพ
บทความ
ข่าวเด่น
แกลลอรี่
×
RoomID:
Room Name:
Description: