วิศวฯ จับมือ บ.ระบบที่จอดรถอัตโนมัติทั่วไป เครือ GMC Group ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ระบบโครงสร้างควบคุมอาคารจอดรถอัตโนมัติ พร้อมผลิต นศ. เพิ่มศักยภาพ ตอบโจทย์วิชาชีพระดับสากล

27 พฤษภาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมือกับบริษัท ระบบที่จอดรถอัตโนมัติทั่วไป จำกัด (บริษัทในเครือ GMC Group) เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนาสร้างองค์ความรู้ด้านระบบโครงสร้าง ควบคุมอาคารจอดรถอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ รองรับการพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมระบบจอดรถอัตโนมัติ อีกทั้งผลิตนักศึกษา พัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพในการศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากร ตลอดจนพัฒนาบุคลากร สำหรับปรับปรุงหลักสูตรตอบสนองมาตรฐานทางวิชาชีพระดับสากล ผ่านกิจกรรมอบรมระยะสั้นอันเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา และบุคลากรของทั้งสองฝ่าย รวมถึงร่วมโครงการบริการวิชาการแก่หน่วยงานภายนอกในการวิจัยพัฒนาระบบอาคารจอดรถอัตโนมัติ ทั้งนี้ พิธีลงนามข้อตกลงทางวิชาการมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.00 น. โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต พร้อมด้วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร ตลอดจนกรรมการผู้จัดการบริษัท ระบบที่จอดรถอัตโนมัติทั่วไป จำกัด คุณวิสรัส เอี่ยมประชาและ คุณจตุพร หอระตะ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มาของความร่วมมือฯ สืบเนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ประสงค์พัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติด้านอาคารจอดรถอัตโนมัติ กอรปกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนสถานที่จอดรถ เป็นโอกาสให้นักวิจัย มช. มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดค้น วิเคราะห์ พร้อมนำเทคโนโลยีระบบควบคุมเสริมเข้ากับระบบดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ นำเข้าระบบอาคารจอดรถอัตโนมัติติดตั้งในพื้นที่ ตามความต้องการของลูกค้า ทั้งยังมีแนวโน้มต่อยอด พัฒนาให้ผู้ดูแลควบคุมการทำงานสามารถทราบถึงการทำงานของระบบ รวมทั้งแสดงข้อมูลการทำงานของระบบ หรืออุปกรณ์ต่างๆ กรณีเกิดความผิดพลาด ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันเพื่อเสริมขีดความสามารถการวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ด้านอาคารจอดรถอัตโนมัติ รองรับความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมอาคารจอดรถของประเทศและภูมิภาคอาเซียนตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากรและบุคลากร ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

ขอบเขตความร่วมมือ คือ มหาวิทยาลัยฯ สนับสนุนบุคลากรเข้าร่วมดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ฝึกอบรม รวมทั้งทรัพยากรบุคคล สถานที่ อุปกรณ์ งบประมาณ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็น ส่วนบริษัทฯ สนับสนุนงบประมาณ ข้อมูลการออกแบบและพัฒนาระบบอาคารจอดรถอัตโนมัติ ก่อเกิดการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาด้านดังกล่าว พร้อมให้พื้นที่เรียนรู้แก่การสร้างระบบ เช่น โครงสร้างอาคาร การออกแบบที่เกี่ยวข้อง ระบบควบคุมอัตโนมัติ ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมสนับสนุนการพัฒนานักศึกษา และบุคลากร มช. ให้มีความรู้ด้านระบบอาคารข้างต้นอย่างถ่องแท้ ภายในระยะเวลา 3 ปี