มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “วัสดุสังเคราะห์เพื่อใช้งานทางการแพทย์” ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ โครงการ “อุปกรณ์ทางการแพทย์” ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในทางคลินิกและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสินค้า โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและปฏิบัติตามกฎหมายรวมถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ณ ห้องสัมมนา ชั้น 2 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สืบเนื่องจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม และคณะผู้วิจัย ได้พัฒนาพอลิเมอร์สำหรับใช้งานทางการแพทย์ ร่วมกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ (Bioplastic Production Laboratory for Medical Applications)” เป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย ได้รับการรับรอง ISO 13485 (ระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ Medical devices-Quality management systems - Requirements for regulatory purposes) จากบริษัท T?V S?D ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขอบเขต “Design and Development, Production and Distribution of Medical Polymers and Absorbable Suture Materials” เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ พอลิ(แอล-แลคไทด์) (พีแอลแอล) พอลิ(แอล-แลคไทด์-โค-คาโปรแลคโทน) (พีแอลซี) พอลิ(แอล-แลคไทด์-โค-ไกลคอไลด์) (พีแอลจี)
ขณะนี้ห้องปฏิบัติการได้ผลิตและจำหน่ายทางการค้าโดยใช้แผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และได้มีการนำมาพัฒนาเป็นไหมเย็บแผลที่ละลายได้ Mini plate และ Mini screw ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย วัสดุทางทันตกรรม เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน คณะแพทยศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กฤช มกรแก้วเกยูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้มีการพัฒนาลิ้นหัวใจพัลโมนิกเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้วยเหตุผลที่กล่าว บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จึงมีความประสงค์จะพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในทางคลินิก และออกเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดสินค้า ภายใต้ 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ “วัสดุสังเคราะห์เพื่อใช้งานทางการแพทย์” ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการ “การพัฒนาพอลิเมอร์ย่อยสลายได้เกรดการแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ในร่างกายมนุษย์” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม และคณะ เพื่อร่วมมือกันขยายสเกลการผลิตพอลิเมอร์เกรดการแพทย์ออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และ ขึ้นรูปต้นแบบ Mini plate และ Mini screw จากพอลิเมอร์เกรดการแพทย์เพื่อใช้ในทางคลินิกและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสินค้า โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ อย่างเคร่งครัด
1.2 โครงการ “การพัฒนาการขึ้นรูปและการทดสอบไฮโดรเจลสำหรับเป็นวัสดุปิดแผลเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ สมสุนันท์ และคณะ เพื่อพัฒนากระบวนการในการขึ้นรูปไฮโดรเจลเพื่อผลิตเป็น วัสดุปิดแผลเพื่อใช้งานด้านการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการทดสอบวัสดุปิดแผลทางคลินิกภายใต้มาตรฐานต่างๆ อย่างเคร่งครัด
2. โครงการ “อุปกรณ์ทางการแพทย์” ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้มีการพัฒนาลิ้นหัวใจพัลโมนิกเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยจะสร้างลิ้นหัวใจพัลโมนิกเทียมแบบใหม่ เป็นชื้นเดียวและไม่มีการเย็บ รวมทั้งทดสอบการทำงานและความทนทานในห้องปฏิบัติการ และทางคลินิก
นวัตกรรมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว มีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยให้มีสุขภาพดี ทำให้แพทย์และคนไข้มีทางเลือกในการรักษา ลดการซื้อวัสดุและอุปกรณ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพ (SDGs 3) และ ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ด้านที่ 5: วิจัยเพื่อความเป็นเลิศและนวัตกรรม (SDGs 3, 9, 17) อีกด้วย
การลงนามในวันนี้ มีนายพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศาสตราจารย์ นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ รองคณบดีด้านวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติต้อนรับและเป็นสักขีพยาน
ข้อมูลโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม
หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
winitacmu@gmail.com