แพทย์มช. เตือน น้ำใสไหลเย็น อาจเป็นพิษ ปนเปื้อนโลหะหนัก ภัยเงียบส่งผลเสียต่อร่างกาย ย้ำ! ไม่ตื่นตระหนก แต่อย่าประมาท!

22 เมษายน 2568

คณะแพทยศาสตร์

ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่าใครจะคิดว่า “น้ำใสไหลเย็น” จากแม่น้ำที่เราคุ้นเคย อาจกำลังแฝงสารพิษที่ส่งผลต่อร่างกายเราทุกวันแบบช้า ๆ และเงียบงัน การปนเปื้อนของโลหะหนัก จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ อย่างตะกั่ว (Pb) และ สารหนู (As) รวมถึงแบคทีเรียและสารอินทรีย์อื่น ๆ ในน้ำอาจมีค่า “เกินค่ามาตรฐาน” และอาจสะสมในร่างกายจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว โลหะหนักที่พบได้ในน้ำธรรมชาตินั้น มีเกณฑ์ในการวัดอยู่ เมื่อเกินเกณฑ์ นั่นคืออันตราย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการวัดค่าสาร ตะกั่ว (Lead, Pb) ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.05 มก./ลิตร) และค่าสารหนู (Arsenic, As) ค่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 0.01 มก./ลิตร
ซึ่งโลหะหนักที่เกินมาตรฐานทั้ง 2 ตัว ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด โดยสารตะกั่ว เราอาจคุ้นชินพราะว่า มันคือสารที่ทำแบตเตอรี่รถยนต์ สีทาบ้าน ลูกกระสุนปืน ตะกั่วที่ปนเปื้อนในแม่นั้น เกิดจากการทำเหมืองแร่หรือโรงงานบางแห่งที่ปล่อยสารนี้ออกมา สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อน และเข้าทางผิวหนังจากการแช่น้ำที่ปนเปื้อนเป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสารตะกั่วจะไปจับกับโปรตีนและเอนไซม์ในร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบประสาท ระบบเลือด และไต “ผิดปกติ” และสะสมในกระดูก ฟัน รวมถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีความไวต่อพิษมากกว่า และเด็กเล็กจะทำให้เกิดการพัฒนาการช้า
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคและ WHO ชี้ว่า ตะกั่วส่งผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก แม้ในปริมาณเล็กน้อย แต่เมื่อได้รับในปริมาณสูงหรือสะสมต่อเนื่อง จะทำให้ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียเรื้อรัง , สมองทำงานช้าลง ความจำสั้น , กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าชา , ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (โลหิตจาง) , ทำให้เกิด ภาวะไตวายเรื้อรัง และในเด็กจะทำให้พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า หากได้รับในปริมาณมากอย่างเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
ส่วนสารหนู หรือ arsenic นั้น ในอดีตเรียกว่า สารหนู เพราะนิยมนำมาเบื่อหนู จะเห็นว่ามันเป็นพิษที่ใช้ฆ่าสิ่งมีชีวิตได้ สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มและสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนได้ โดยเมื่อเข้าร่างกาย สารหนูจะรบกวนการทำงานของเซลล์โดยตรง ทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งเซลล์และการทำงานของเอนไซม์ ส่งผลต่ออวัยวะหลายระบบ ทำให้เซลล์ทำงานอ่อนแอลง เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ และก่อให้เกิดมะเร็งได้ เมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไปหรือสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน จะส่งผลให้มีอาการดังนี้
* อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
* ผิวหนังหนา หยาบกร้าน หรือมีจุดดำคล้ายกระ
* ปลายมือปลายเท้าชา (neuropathy)
* เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
* สะสมในไต ตับ และหัวใจ เกิดความผิดปกติระยะยาว
* หากได้รับมากแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้
หลักฐานจากงานวิจัยในพื้นที่เอเชียใต้ พบว่า การบริโภคน้ำที่มีสารหนูสูง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งถึง 2–3 เท่าเนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถขับโลหะหนักเหล่านี้ออกได้หมด หากได้รับซ้ำ ๆ ทุกวัน แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถสะสมในร่างกายจนกลายเป็นภัยเงียบที่แสดงอาการในอีกหลายเดือนหรือหลายปีถัดมา


ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เน้นย้ำว่า ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ก็อย่าประมาท ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรง โดยเฉพาะจุดที่มีรายงานการปนเปื้อน , ใช้น้ำที่ผ่านการกรองคุณภาพสูง หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน , และหากมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง มือเท้าชา นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ควรพบแพทย์ และแจ้งว่ามีประวัติสัมผัสสารพิษจากน้ำ


ทั้งนี้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีประวัติสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก คือล้างตัวทันที ใช้น้ำสะอาดและสบู่อ่อน ๆ ล้างให้ทั่วร่างกาย หากน้ำเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด 10–15 นาท , เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที อย่าใช้ซ้ำ ควรนำไปซักด้วยน้ำสะอาดและผงซักฟอก และควรล้างมือก่อนทุกครั้งก่อนสัมผัสตา ปาก จมูก หรือบริเวณใบหน้า และควรติดตามข่าวจากหน่วยงานรัฐหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับข้อมูลและแนวทางป้องกันที่ถูกต้อง


เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#โลหะหนัก #สารหนูปนเปื้อนในน้ำ #เชียงใหม่ #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU