ไขมันพอกตับ ภัยร้ายกลายเป็นมะเร็งตับ

18 ตุลาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

โรคมะเร็งตับเป็น 1 ในสาเหตุหลักที่ต้องทำการปลูกถ่ายตับ เนื่องจากในปัจจุบันประชากรที่มีภาวะอ้วนลงพุง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และรับประทานอาหารไม่ถูกหลักตามโภชนาการ จึงส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับ หรือที่ใครหลายคนเรียกว่าไขมันเกาะตับ ไขมันคั่งตับ (Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) ซึ่งเป็นภาวะไขมันคั่งในตับ ที่มีลักษณะของไขมันแทรกซึมภายในเนื้อตับ หากไม่ได้รับการรักษาในอนาคตผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดโรคมะเร็งตับในที่สุด
สาเหตุการเกิดโรคไขมันพอกตับ
-ไขมันพอกตับปฐมภูมิ
มีความสัมพันธ์กับโรคอ้วนลงพุงหรือเมตาบอลิกซินโดรม
-ไขมันพอกตับทุติยภูมิ
มีสาเหตุของการเกิดอย่างชัดเจน และมีแนวทางการรักษาที่จำเพาะกับโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ (หากดื่มต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ทำให้เริ่มมีไขมันพอกตับเกิดขึ้น), มีการติดเชื้อไวรัสอักเสบชนิดซี, ยา (สเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส ยากันชักบางชนิด), และโรคตับอื่นๆ เช่น โรคตับจากทองแดงเกิน เป็นต้น
กลไกการเกิดไขมันพอกตับนั้น เกิดจากไขมันคั่งอยู่บริเวณเซลล์ตับ ดังนั้นผลจากการที่ไขมันคั่งอยู่ในตับ จะกระตุ้นให้มีการอักเสบเกิดขึ้นในเนื้อตับ และเกิดพังผืดตามมา เมื่อสะสมในปริมาณมากจะสามารถกลายเป็นตับแข็งได้ และมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งตับในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไขมันพอกตับ
ปัจจัยสำคัญหลักคือภาวะอ้วนลงพุง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นโรคเบาหวาน โดยทั่วไปภาวะดื้อต่ออินซูลิน จะเพิ่มการเปลี่ยนน้ำตาลที่ตับ เปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ ทำให้ไขมันสะสมที่ตับมากขึ้น
เกณฑ์ภาวะอ้วนลงพุง (หากมากกว่า 3 ข้อ ใน 5 ข้อนี้ จะเข้าเกณฑ์ภาวะอ้วนลงพุง)
1.มีหน้าท้องหนา โดยมีรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร ในผู้หญิง มากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย 2.มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
3.ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
4.ไขมันดี HDL ต่ำ
5.ความดันโลหิตสูง
*ทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันพอกตับอีกด้วย
การดำเนินโรคของภาวะไขมันพอกตับ
การดำเนินโรคของผู้ป่วยมี 2 แบบ โดยแบ่งตามการมีการอักเสบในเนื้อตับ ได้แก่
1.ผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับที่ไม่มีการอักเสบ พบ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับทั้งหมด มีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรง มีโอกาสน้อยที่จะเกิดพังผืดในตับ ตับแข็ง มะเร็งตับ
2.ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีการอักเสบของตับ (โรค NASH, non-alcoholic steatohepatitis) พบ 1 ใน 4 เป็นกลุ่มที่อาจมีภาวะที่แทรกซ้อนทางตับที่รุนแรงได้ มีโอกาสสูงในการเกิดพังผืดในเนื้อตับ มีภาวะตับสูญเสียหน้าที่ ตับทำงานไม่ได้ เกิดมะเร็งตับ โดยมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งตับจำนวน 13 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 8 ปี
การดำเนินโรคเริ่มจากระยะที่มีการอักเสบของตับ ระยะที่มีการสะสมของพังผืดในตับอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดพังผืดในตับเป็นอย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นตับแข็ง ที่อาจจะปรากฏภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นตาเหลือง ท้องโตจากภาวะมีน้ำในช่องท้อง มีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร และการเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด
การตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ
-การตรวจอัลตราซาวน์บริเวณช่องท้อง ใช้เป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับที่สำคัญ
-การตรวจเลือด หาค่าการอักเสบของตับ
-การตรวจวัดปริมาณไขมันในตับและระดับความแข็งของตับด้วยเครื่องตรวจพังผืดในเนื้อตับ
-การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ
-เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การดูแลรักษาและคำแนะนำในผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ
-การลดน้ำหนัก โดยแนะนำให้ลดน้ำหนักลงได้ ร้อยละ 7 ถึง 10 ของน้ำหนักตัวตั้งต้นในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
-การออกกำลังกาย 3-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เดิน, วิ่ง, ปั่นจักรยาน, เต้น หรือการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน
-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การควบคุมอาหาร โดยคุมปริมาณอาหาร ลดแคลอรี่ที่รับประทานเข้าไป อย่างน้อย 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และคุมคุณภาพของอาหาร ลดอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง
-ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภาวะผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับ และงดดื่มในผู้ป่วยที่มีพังผืดในตับมากหรือมีตับแข็ง
-งดสูบบุหรี่
-ในปัจจุบันยา ช่วยลดการอักเสบในตับ ควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คการทำงานความผิดปกติของตับ จะเป็นการค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือโรค รวมถึงภาวะต่างๆที่ยังไม่แสดงอาการ หากพบปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบความสำเร็จ ยังช่วยลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความตื่นตัวให้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.พญ.กนกวรรณ ภิญโญพรพาณิชย์ อาจารย์ประจำหน่วยระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ไขมันพอกตับ #มะเร็งตับ
#MEDCMU
#MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่