การประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ พ.ศ. 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA”

15 สิงหาคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

             คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมอนามัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ศูนย์วิชาการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพร พิชัยยา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวรายงาน และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกประเมินด้านสุขภาพ เป็นประธานเปิด มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนางานวิชาการและการขยายเครือข่ายสำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงาน การประชุมวิชาการจึงเป็นยังคงเป็นเวทีสำคัญในการสนับสนุนให้นักวิชาการ หน่วยงาน และบุคคลทั่วไป ผลิต เผยแพร่ นำเสนอ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์การทำงาน งานวิจัยด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2567 เนื้อหาในการประชุมในครั้งนี้จะเน้นประเด็น “เมืองสุขภาพดี” ซึ่งเป็นกรอบการวิจัยร่วมของเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาการทำงานระหว่างเครือข่ายและการพัฒนานโยบายสาธารณะเชิงประเด็นดังกล่าวต่อไปจัดขึ้นในระหว่าง วันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
            พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ซึ่งครอบคลุมทั้ง เรื่องสิทธิ หน้าที่และความมั่นคงด้านสุขภาพ กระบวนการมีส่วนร่วม และกลไกการทำงาน โดยได้ให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการร้องขอให้มีและเข้าร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไว้ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 5 มาตรา 10 และมาตรา 11 และบัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่ง สช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 ประกาศใช้ เมื่อเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เป็นหลักเกณฑ์ฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในเชิงหลักการและเป้าหมายของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ อย่างยืดหยุ่น
           เครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จะต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องมีนักวิชาการร่วมถึงสถาบันวิชาการซึ่งเป็นที่ยอบรับเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้านวิชาการ ด้วยเหตุนี้เอง สช. ได้เล็งเห็นความสำคัญและบทบาทของนักวิชาการและสถาบันการศึกษา จึงได้จัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยได้มีการจัดประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพร่วมกับสถาบันการศึกษาครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2551 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 2008 ในหัวข้อ “Asia and Pacific Regional Health Impact Assessment Conference” และในปี พ.ศ. 2564 สช. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิชาการด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการจัดการความรู้ด้านประเมินผลกระทบทางสุขภาพกับสถาบันการศึกษา 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) ภาคเหนือตอนล่าง (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ภาคกลาง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ภาคตะวันออก (มหาวิทยาลัยบูรพา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และได้จัดให้มีประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) กับเครือข่ายวิชาการฯ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2566 โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ


https://ph.cmu.ac.th/HIA2024/
 

แกลลอรี่