วันต้อหินโลก วันต้อหินโลก WORLD GLAUCOMA WEEK จัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ปีนี้ตรงกับ 10-16 มีนาคม 2567

13 มีนาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

วันต้อหินโลก วันต้อหินโลก WORLD GLAUCOMA WEEK จัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ปีนี้ตรงกับ 10-16 มีนาคม 2567


ปัจจุบันมีผู้ป่วยต้อหินประมาณ 80 ล้านคน ทั่วโลก จากการศึกษาพบว่าในปี ค.ศ. 2010 มีผู้ป่วยที่ตาบอดจากภาวะต้อหินประมาณ 8.4 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านคน ในปี 2040 ทั้งนี้มีการศึกษาความชุกของโรคต้อหินในประเทศไทยในประชาชนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบถึง 3.8 เปอร์เซ็นต์

ภาวะต้อหินส่วนใหญ่ในระยะแรกไม่มีอาการ ผู้ป่วยต้อหินที่มาพบจักษุแพทย์จึงมักมีการทำลายของขั้วประสาทตาค่อนข้างมากซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว ซึ่งการมองเห็นที่สูญเสียไปจะเป็นการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจตาเพื่อคัดกรองภาวะต้อหินจึงมีความสำคัญในการป้องกันภาวะตาบอดจากโรคต้อหิน

โรคต้อหินเป็นโรคที่พบค่อนข้างบ่อยและเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดถาวรอันดับหนึ่ง

โรคต้อหินเกิดจากอะไร
โรคต้อหินเป็นการทำลายขั้วประสาทตาจากความดันตาสูง ส่งผลให้ลานสายตาจะแคบลง และระดับการมองเห็นลดลง

สาเหตุของโรคต้อหินสามารถแบ่งได้ 2 ชนิดได้แก่
1.ปฐมภูมิ คือไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด มักจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมรวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
2.ทุติยภูมิ คือมีสาเหตุของการเกิดโรค เช่น การใช้ยาบางอย่างเช่น ยาสเตียรอยด์ พบภายหลังอุบัติเหตุทางตา หรือพบร่วมกับโรคทางตาอื่นๆ
และหากแบ่งตามกลไกการเกิดต้อหินสามารถแบ่งได้เป็นอีก 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดมุมเปิด และชนิดมุมปิด ซึ่งต้อหินชนิดมุมเปิดพบได้บ่อยกว่า อาการมักค่อยเป็นค่อยไป แต่ชนิดมุมปิดสามารถพบได้มากขึ้นในคนเอเชีย สามารถนำไปสู่ภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตามัวเฉียบพลัน และเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหินได้
ต้อหินพบได้ในทุกวัย แต่ต้อหินมักเกิดในอายุ 40 ปีขึ้นไป และในกลุ่มที่มีประวัติในครอบครัวที่เป็นต้อหินจะมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับต้อหินในเด็กมักจะมีอาการแสดงที่ชัดเจน เช่น มีลูกตาที่ค่อนข้างใหญ่ หรือกระจกตาที่ขุ่น ให้ผู้ปกครองสังเกตอาการและสัญญาณเตือน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
1.อายุที่มากขึ้น
2.ความดันตาสูง
3.โรคทางตา อาทิเบาหวานขึ้นตา หรือมีประวัติอุบัติเหตุทางตา
4. พันธุกรรม
5. ยาสเตียรอยด์
6. สายตาสั้นหรือยาวมากๆ

การตรวจวินิจฉัยภาวะต้อหินประกอบไปด้วย
-การตรวจวัดความดันตา หากมีความดันตาสูง จะเป็นความเสี่ยงหลักของการเกิดต้อหิน
-การตรวจขั้วประสาทตา จากการตรวจจอรับภาพ และหากสงสัยภาวะต้อหินมักตรวจเพิ่มเติมโดยสแกนจอตา
-การตรวจระดับการมองเห็น ลานสายตา
-การตรวจมุมตา

การรักษาภาวะต้อหินขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งประกอบไปด้วย ยาหยอดตา ยารับประทาน การยิงเลเซอร์ และการผ่าตัด ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อควบคุมความดันตาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายต่อขั้วประสาทตา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :อ.พญ.พิชญา กุลนิวัฒเจริญ อาจารย์ด้านประสาทจักษุวิทยา ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่