เคล็ด(ไม่)ลับ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือนแบบเปิดช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้
ปัจจุบันกระแสการรักสุขภาพกำลังมาแรง โดยเฉพาะทางเลือกในการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษ (Pesticide-free vegetable) ด้วยกระบวนการผลิตที่ปราศจากการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โรคพืชและวัชพืช ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกร ในการสร้างมูลค่าของผลผลิตและส่งต่อคุณค่าที่ดีให้แก่ผู้บริโภค มูลค่าของผลผลิตพืชผักปลอดสารพิษ ปลอดภัยและปราศจากสารตกค้างมีราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กระบวนการในการเพาะปลูกพืชผักกลางแจ้ง หรือแปลงเปิดนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะสภาพอากาศแบบเขตร้อน (Tropical) ของเมืองไทยที่ที่มีอากาศร้อน ฝนตก และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ซึ่งไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชผัก ซึ่งพืชผักส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมีแหล่งกำเนิดจากเขตอบอุ่น (Temperate) แรงตกกระทบของฝนทำให้ผลผลิตเสียหาย ความชื้นสะสมของดินและอากาศยังเป็นสาเหตุให้การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชสูงขึ้น การปลูกพืชในโรงเรือนแบบเปิด (Side-open greenhouse) เป็นทางเลือกในการจัดการกับสภาพแวดล้อมในการผลิต และช่วยทำให้การบริหารจัดการแปลงง่ายขึ้น และทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
วิธีการปลูกผักต่าง ๆ ในพื้นที่แปลงเปิดเพื่อเพิ่มผลผลิต
“จากการเก็บข้อมูลระหว่าง พ.ศ.2561-2563 ในแปลงสาธิตระบบการผลิตผักปลอดสารพิษของศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตรซึ่งมีการปลูกพืชผสมผสานตามฤดูกาล 38 ชนิด ในแปลงเปิดพบว่า ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน พืชผักที่ปลูกหมุนเวียนในระบบการผลิตพืชผักปลอดสารพิษมีผลผลิตลดลดงกว่าร้อยละ 70 ของระดับผลผลิตในฤดูหนาว ช่วงกลางพฤศจิกายนถึงปลายกุมภาพันธ์ ซึ่งเรามีวิธีการแก้ปัญหา” นายทัพไท หน่อสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
วิธีการแก้ปัญหาที่ทางศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตรทำคือ การปลูกพืชให้เป็นไปตามภูมินิเวศน์ของพื้นที่นั้น ๆ ยกตัวอย่างศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ปลูกผักปลอดภัยของศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร บริเวณแปลงเปิดจะปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นเมือง อาทิ ผักปัง ผักหวานบ้าน ข้อดีของพืชเหล่านี้ คือมีความต้านทานต่อโรค ส่งผลให้ผลผลิตไม่ลดลงจากปัญหาของโรคพืช นอกจากนี้ยังมีการหมุนเวียนปลูกพืชตระกูลคะน้า กวางตุ้ง ซึ่งได้ผลผลิตคงที่ตลอดทั้งปี
ปลูกผักในโรงเรือนแก้ปัญหาผลผลิตผักลดลงในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน
อีกหนึ่งวิธีที่ศูนย์วิจัยฯ ใช้ในการแก้ปัญหาคือ การผลิตผักปลอดสารพิษในโรงเรือนแบบเปิด เป็นวิธีการปรับสภาพแวดล้อมในการผลิต โดยโรงเรือนแบบเปิดจะมีหลังคาพลาสติกที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ ช่วยลดการแตกตัวของผนังเซลล์พืช นอกจากนี้ยังสามารถลดความชื้นในดินช่วงหน้าฝนได้ด้วย ส่งผลให้โรคและเชื้อสาเหตุทางดินลดลง
สีของตาข่ายพรางแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช
สีของตาข่ายพรางแสงที่เกษตรกรมักใช้ในการพรางแสงคือ สีดำ และสีเขียว แต่รู้หรือไม่ว่า สีของตาข่ายพรางแสงสีดำจะดูดซับแสงไว้ทั้งหมดโดยไม่เปล่งแสงกลับออกมาให้พืช ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้อย่างเต็มที่ และสีเขียวจะดูดซับแสงและเปล่งแสงสีเขียวออกมาซึ่งพืชใช้ในการสังเคราะห์แสงน้อยกว่าความยาวคลื่นช่วงอื่น ๆ สีตาข่ายพรางแสงที่แนะนำให้ใช้ในการพรางแสงในโรงเรือน คือ “ตาข่ายพรางแสงสีเงิน” เนื่องจากจะช่วยควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิลดลง เหมาะมากกับสภาพอากาศที่ร้อนอย่างประเทศไทย พร้อมทั้งช่วยดูดซับ และเปล่งแสงให้พืชสามารถใช้แสงในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ช่วยให้ผักลดความเครียดที่มีสาเหตุจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดการคายระเหยน้ำจากพืชและวัสดุปลูก (Evapotranpiration)
ออกแบบโรงเรือนปลูกผักยกพื้นช่วยประหยัดแรง ลดต้นทุนในการผลิต
การปลูกผักโดยใช้โต๊ะปลูกยกพื้นสูงจากดินจะช่วยให้การปลูกผักง่ายขึ้น เนื่องจากเกษตรกรสามารถยืนปลูกได้อย่างสะดวก อีกทั้งการทำโต๊ะปลูกแบบยกพื้นยังสามารถเตรียมดินปลูก และกำจัดวัชพืชได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักบนพื้นดินโดยตรง
ทั้งนี้ แนะนำให้สร้างโต๊ะปลูกที่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นความกว้างที่พอเหมาะในการเอื้อมมือไปทำงานในฝั่งตรงข้ามได้ และความสูงของโต๊ะปลูกขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของสวนนั้น ๆ
การทำโต๊ะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เป็นวิธีการช่วยลดต้นทุนในการผลิตพืชผักได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่น อาทิ ต้นไผ่ เป็นวัสดุในการทำโต๊ะปลูกจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี ซึ่งมีต้นทุนในการทำต่ำ ถือว่าเป็นการลดต้นทุนถาวรลงไปได้
นอกจากนี้การให้น้ำแบบสปริงเคลอร์ด้านบน (Overhead Sprinkler) 2 ครั้งต่อวัน ยังช่วยลดอุณภูมิระหว่างวันภายในโรงเรือน ประกอบกับการปรับพื้นโรงเรือนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุณภูมิภายในโรงเรือน การปูพื้นด้วยแผ่นปูพื้นสำเร็จ (Geo-textile) และเทพื้นด้วยหินก่อสร้าง หรือหินแม่น้ำ ให้มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว นอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของวัชพืช ยังช่วยให้มีการระเหยของน้ำซึ่งช่วยนำพาความร้อนออกจากระบบการผลิตในโรงเรือนแบบเปิดได้
วัสดุปลูกดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
วัสดุปลูกที่ทางศูนย์วิจัยฯ ใช้ในแปลงปลูกคือ วัสดุปลูกจากตะกอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยฯ โดยตะกอนที่ได้นำมาจากศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำคัดแยกเศษอาหารจากโรงอาหารของมหาวิทยาลัยและร้านอาหารในเขตเทศบาลตำบลสุเทพซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ BCG Economy Model มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ โครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์วิจัยฯ ตามแนวทาง BCG Economic Model ด้วยแนวคิดฟาร์มมหาวิทยาลัย โดยมีการบูรณาการทั้งหน่วยงานภายนอกและภายในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังมีการสนับสนุนกลุ่มตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัยในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชผักปลอดสารพิษ พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งการดำเนินโครงการดังกล่าวยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปอีกด้วย