สถาบันสถาบันพลังงานมช.สร้างระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทน เพื่อก๊าซหุงต้มชุมชนต้นแบบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 536 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี

20 กันยายน 2565

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์

         ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม เป็นระบบที่ทำการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพที่จากเดิมมีก๊าซมีเทนร้อยละ 60 โดยปริมาตร ไปเป็นก๊าซไบโอมีเทนที่มีก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 โดยปริมาตรขึ้นไป พร้อมกับปรับปรุงส่วนประกอบอื่นอีก 7 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซออกซิเจน กำมะถัน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย จุดน้ำค้าง และอนุภาคฝุ่นละออง พร้อมกับการเติมกลิ่น เพื่อให้เป็นไปตามร่างมาตรฐานโครงข่ายท่อส่งก๊าซชีวภาพ ทั้งนี้ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซ หุงต้มนี้อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับเงินสนันสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือนในชุมชนต้นแบบ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ จ.สกลนคร และจ.นครปฐม ด้วยโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซอย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัย


        ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน ประกอบด้วย 1.) ระบบทําความสะอาดก๊าซชีวภาพเบื้องต้น (Pretreatment System) ได้แก่ ชุดลดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ด้วยถ่านกัมมันต์ และ ชุดลดความชื้นขั้นต้นด้วยระบบทำความเย็นแบบอัดไอ 2.) ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยี เมมเบรน (Membrane System) ได้แก่ ระบบเพิ่มแรงดันก๊าซชีวภาพ ระบบลดความชื้นขั้นหลัง ระบบเมมเบรน และระบบลมอัด ระบบท่อ วาล์ว ชุดลดความดัน และอุปกรณ์ประกอบระบบ 3.) ระบบเครื่องมือวัดและตรวจวัดคุณภาพก๊าซไบโอมีเทน 4.) ถังเก็บก๊าซไบโอมีเทน (ความดันในการจัดเก็บสูงสุด 15 บาร์) 5.) ระบบควบคุมไฟฟ้า PLC&SCADA 6.) ระบบความปลอดภัย/ดับเพลิง และ 7.) อาคารหลัก อาคารชุดลดความชื้น อาคารเติมกลิ่น และ 8.) ระบบสาธารณูปโภค


       จากการเดินระบบใช้งานจริงพบว่า ระบบสามารถผลิตก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มได้สูงสุด 260 ครัวเรือน โดยในแต่ละวันได้ใช้ก๊าซชีวภาพเฉลี่ยวันละ 198 ลูกบาศก์เมตร ผลิตก๊าซไบโอมีเทนได้วันละ 110 ลูกบาศก์เมตร หรือ 95 กิโลกรัม โดยระบบจะทำงานที่ 8.50 ชั่วโมง สามารถผลิตก๊าซไบมีเทนที่มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนได้ประมาณร้อยละ 85 โดยปริมาตร ส่วนองค์ประกอบก๊าซที่เหลือผ่านตามคุณสมบัติของก๊าซไบโอมีเทนในท่อโครงข่ายก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชน ทั้งนี้ในส่วนของครัวเรือนในแต่ละวันมีอัตราการใช้ก๊าซไบโอมีเทน 0.38 ลูกบาศก์เมตร หรือ 0.33 กิโลกรัม และหากมีการเดินระบบทั้งปีที่ประมาณ 330 วัน ระบบนี้จะสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 536 TonCO2eq. ต่อปี

แกลลอรี่