แอ่งน้ำบาดาลในชั้นตะกอนร่วนเชียงใหม่-ลำพูนวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยมีแม่น้ำปิงและกวงเป็นลำน้ำสายหลัก ซึ่งมีการเติมน้ำบาดาลตามธรรมชาติจากน้ำฝนบริเวณแล้วไหลออกมาหล่อเลี้ยงแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา และไหลออกจากแอ่งทางตอนใต้เข้าสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยแอ่งฯ มีบ่อน้ำบาดาลอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ได้พัฒนาน้ำบาดาลจากความลึกในช่วง 30-80 เมตร ยกเว้นในพื้นที่ที่หาน้ำบาดาลค่อนข้างยาก ซึ่งจะต้องเจาะน้ำบาดาลและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลที่ความลึกมากกว่า เช่น 120-150 เมตร
แอ่งน้ำบาดาลเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้งโดยเฉลี่ยแล้วมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,500-1,800 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะฝนตกในช่วงสั้น ๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงทำให้มีอัตราการเติมน้ำบาดาลจากพื้นที่ขอบแอ่งเข้าสู่ใจกลางแอ่งค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนหลงเหลือเข้าไปเติมและกักเก็บชั้นน้ำบาดาลไม่มากนัก
แอ่งฯ เชียงใหม่-ลำพูนมีความต้องการใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อการอุปโภค-บริโภคประมาณ 107 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (โดยการประปาส่วนภูมิภาคสามารถจ่ายน้ำให้ได้เพียง 69 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) ซึ่งพบว่า การให้บริการน้ำจากภาครัฐยังไม่สามารถจ่ายน้ำให้กับประชาชนใช้ได้อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะภาคประชาชนและภาคการเกษตรที่อยู่นอกพื้นที่การให้บริการของการประปาภูมิภาคและการชลประทาน ทำให้ภาคประชาชนและภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาตนเอง จะต้องมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พื้นที่แอ่งน้ำบาดาลเชียงใหม่-ลำพูน มีบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาลทั้งสิ้น 53 สถานี (จำนวน 98 บ่อ) กระจายตัวอยู่ในพื้นที่แอ่งน้ำบาดาลย่อยในเมืองเชียงใหม่-ลำพูน โดยข้อมูลระดับน้ำบาดาลเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 0.05-0.52 เมตร ซึ่งการลดลงของระดับน้ำบาดาลนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงปริมาณการใช้น้ำอย่างไม่สมดุลกับอัตราการเติมน้ำโดยธรรมชาติ ซึ่งชั้นน้ำบาดาลในหินร่วนหรือตะกอนร่วนเป็นชั้นน้ำบาดาลที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาใช้มากที่สุด ทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มจะคืนตัวกลับมาเท่าระดับเดิม
ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ริม (ตอนใต้) และอำเภอหางดง ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นและมีปริมาณการใช้น้ำสูง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง โดยฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลติดต่อกันในช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 ส่งผลให้น้ำบาดาลในระดับตื้น (เช่น บ่อขุดของประชาชนที่มีความลึกประมาณ 10-15 เมตร) เกิดลดระดับลงอย่างต่อเนื่องจนบ่อน้ำบาดาลระดับตื้นที่เป็นบ่อขุดเกิดการแห้งขอด
การศึกษานี้ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทางธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา การใช้ประโยชน์ที่ดิน และปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่แอ่งน้ำบาดาลเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อจำลองการไหลของน้ำบาดาลในสามมิติในสภาวะไม่คงที่ เพื่อประเมินปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บ ปริมาณน้ำฝนที่เติมน้ำบาดาลในแต่ละปี รวมถึงปริมาณการใช้น้ำอย่างปลอดภัยซึ่งไม่ทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงเร็วเกินไป (Safe Yield)
ผลการศึกษาพบว่า การจัดทำแบบจำลองการไหลในสามมิติด้วยวิธีผลต่างอันตะ (Finite Difference) ควบคู่กับการปรับเทียบแบบจำลองด้วยการหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดแบบไม่เชิงเส้น (Non-linear Parameter Optimization) พบว่าการเติมน้ำบาดาลตามธรรมชาติ (Natural Recharge) มีความอ่อนไหวต่อปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำเติมและปริมาณน้ำกักเก็บ (Storage) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดวิกฤติน้ำบาดาลได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำปลอดภัยที่ไม่ทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงเร็วเกินไปหรือ Safe Yield มีค่า 51 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อไปซึ่งสูงกว่าการใช้น้ำบาดาลทั้งหมดในแอ่งในปัจจุบัน
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Taweelarp, S., Khebchareon, M., Saenton, S.*, 2021 Evaluation of Groundwater Potential and Safe Yield of Heterogeneous Unconsolidated Aquifers in Chiang Mai Basin, Northern Thailand, Water, 13(4) : 558 (Scopus: Q1, SJR 0.72; Web of Science: Q2 IF 3.103),
(https://www.mdpi.com/2073-4441/13/4/558)
#CMUSmartCity #ChiangMaiUniversity #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG6 #CMUSDG9 #CMUSDG15