ไส้เลื่อนผู้หญิงก็เป็นได้ ผู้ชายยิ่งต้องรู้

21 เมษายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

เรามักจะได้ยินว่าไส้เลื่อนเกิดขึ้นกับผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีภาวะความผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อหารอยโรคว่าเข้าข่ายที่จะเกิดโรคไส้เลื่อนหรือไม่
ไส้เลื่อนคืออะไร?
ไส้เลื่อนเป็นความผิดปกติทางกายวิภาค มีช่องว่างผิดปกติเกิดขึ้น โดยอาจมีลำไส้ แผ่นไขมัน หรืออวัยวะอย่างอื่น ผ่านเข้าไป ซึ่งประเภทของไส้เลื่อนจะมีทั้งภายในและภายนอก โดยบริเวณภายนอกจะมีรูที่ผนังหน้าท้อง โดยมากมักเกิดตรงบริเวณขาหนีบเป็นหลัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มไส้เลื่อนภายนอก
- ไส้เลื่อนขาหนีบ
เป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุด 3 ใน 4 ของไส้เลื่อนทั้งหมด โอกาสเกิดในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง 9 เท่า พบในผู้ป่วยชายเป็นหลัก เป็นไส้เลื่อนที่เกิดจากผนังหน้าท้องส่วนล่างหย่อนยาน เนื่องจากการพัฒนาเจริญเติบโต การผ่านของอัณฑะมาจากในช่องท้องลงไปยังถุงอัณฑะ เป็นไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ ทำให้โอกาสที่จะเกิดความอ่อนแอที่ผนังหน้าท้องสูงกว่าผู้ป่วยหญิง
- ไส้เลื่อนภายนอกอื่นๆ : ไส้เลื่อนสะดือ
ในผู้ป่วยเด็กมีลักษณะเหมือนสะดือจุ่น ไส้เลื่อนกลับเข้า-ออกได้ ไม่มีอาการแสดง มีโอกาสมากที่ผู้ป่วยจะหายเองได้ แต่ในขณะเดียวกัน ควรพบกุมารแพทย์และศัลยแพทย์กุมาร เพื่อดูอาการ โดยโอกาสที่จะตัดสินใจผ่าตัดมีน้อย ซึ่งแพทย์มักจะให้ผู้ป่วยดูอาการไปก่อน จนกระทั่ง 4 -5 ปี เพื่อวินิจฉัยตัดสินใจผ่าตัดอีกครั้ง สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ ลักษณะสะดือจุ่น อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น เช่น การมีท้องมานน้ำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัด
- ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
หมายถึง ไส้เลื่อนที่อาจจะเกิดหลังจากการผ่าตัด มีลักษณะเป็นแผลจากการผ่าตัด ไม่ว่าจะผ่าโรคใดก็ตาม มีโอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนแผลผ่าตัดขึ้นได้ เนื่องจากแผลผ่าตัดตรงผนังหน้าท้องด้านในมีการแยกกัน ทำให้เกิดลักษณะเหมือนมีไส้เลื่อนยังบริเวณหน้าท้อง จะสังเกตได้จากลักษณะหลังจากผ่าตัด ผ่านไปซักพักแผลจะเริ่มโปร่งขึ้น ทำให้ลำไส้ผ่านเข้า-ออก ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่รักษายาก
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนขาหนีบ
เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น หรือทำให้เนื้อเยื่อมีความอ่อนแอลง ทุกอย่างที่จะทำให้เกิดเป็นปัจจัยเสี่ยง
ความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อนขาหนีบในกลุ่มอายุต่างๆ คือเมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อโดยธรรมชาติความอ่อนแอจะเพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากโอกาสที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของไส้เลื่อนจะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้นตามอายุ
บุคคลที่เสี่ยงภาวะไส้เลื่อน ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะไอเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ผู้ป่วยต่อมลูกหมากที่มีปัญหาปัสสาวะลำบาก
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมานน้ำ เช่น ผู้ป่วยตับวายเรื้อรัง ผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง
- เพศชาย
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ยกของหนักเป็นประจำ
- การสูบบุหรี่
- กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
- สตรีมีครรภ์
ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นไส้เลื่อนช่องท้องได้ ซึ่งในวัยเด็ก 10 ปี แรกอุบัติการเกิดไส้เลื่อนสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มในผู้ใหญ่ตอนต้น เนื่องจากเกิดความผิดปกติทางการพัฒนารูในอัณฑะ ที่มีการเลื่อนตัวลงมาโดยที่ไม่ปิดและทำให้มีรูค้างอยู่ ทำให้มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้ ซึ่งในผู้ป่วยเด็กไม่มีความจำเป็นที่ผนังหน้าท้องที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะเด็กคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนจะสูงกว่า
อาการของโรคไส้เลื่อน มีดังนี้
- คลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค โดยเฉพาะเวลายกของ เบ่ง ไอ จาม
- มักจะดันก้อนกลับไปในช่องท้องได้ หากนอนราบลง
- มีอาการปวดบริเวณก้อนนูนนั้นๆ
- อาจมีอาการปวดท้องได้ หากมีภาวะไส้เลื่อนติดคาบริเวณที่เกิดโรค
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อน : ภาวะไส้เลื่อนติดคา เป็นลักษณะที่มีลำไส้ผ่านรูที่ผิดปกติ แต่ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงลำไส้ได้ลำบาก จึงเกิดภาวะขาดเลือดตามมา จึงทำให้เกิดไส้เลื่อนติดคา เป็นภาวะที่อันตรายมากหากขาดเลือดจนเกิดการแตกทะลุ มีหนอง และทำให้เกิดการติดเชื้อ ถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน ทำได้โดย
- การซักประวัติ
- การตรวจร่างกาย
- การส่งตรวจพิเศษ อาทิ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยมีความเที่ยงตรงในการวินิจฉัยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
การรักษาโรคไส้เลื่อน : การรักษาโรคไส้เลื่อนเป็นโรคทางกายวิภาค เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถหายเองได้ หากไม่ได้แก้ไขด้วยการผ่าตัด ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่มียาที่รักษาไส้เลื่อนให้หายได้ วิธีการรักษาจะกระทำโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดใส่ตาข่าย การผ่าตัดแบบผ่านกล้อง และหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง การเฝ้ารอดูอาการแบบเฝ้าระวังก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งหลังจากได้รับการประเมินจากแพทย์แล้ว
ถึงแม้จะมีการรักษาโรคไส้เลื่อนหายแล้ว แต่โอกาสเป็นซ้ำหลังผ่าตัดสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากแรงดันในช่องท้องพยายามที่จะดันรอยโรคที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหากผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว การวินิจฉัยของแพทย์อาจจะยากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นให้หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำ หากมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาของโรคต่อไป.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ม.ล.พันธุ์ภัทร์ จักรพันธุ์ อาจารย์หน่วยศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารส่วนต้น ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่