เด็กสมาธิสั้น และปัสสาวะรดที่นอน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

24 มิถุนายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

รู้จักสมาธิสั้น

สมาธิจะมีมากหรือน้อยในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ การเจริญเติบโตของระบบประสาทและสติปัญญา ซึ่งทำให้ในเด็กที่อายุมากขึ้นก็จะมีสมาธิมากขึ้นตามวัย
โดยปกติเด็กเล็กๆ ช่วงขวบปีแรกจะมีสมาธิไม่เกิน 2-3 นาที หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือในช่วง 1-2 ขวบจะมีสมาธิประมาณ 3-5 นาที วัยอนุบาลสามารถมีสมาธิประมาณ 5-15 นาที และช่วงประถมต้นอาจมีสมาธิได้นานถึง 15-30 นาทีขึ้นไป

โรคสมาธิสั้น
เป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กวัยเรียน เป็นภาวะบกพร่องในการทำงานของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใน 3 ด้านหลัก
ได้แก่
• ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง เช่น เหม่อลอย ทำงานไม่มีระเบียบ
• ซน เคลื่อนไหวมากกว่าปกติหรืออยู่ไม่นิ่ง เด็กอาจวิ่งไปมา พูดไม่หยุด ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม “Hyperactivity”
• ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่นที่ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ เช่น เล่นอยู่กับเพื่อนอย่างสนุกแล้วผลักเพื่อนล้มลง ยั้งแรงไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคสมาธิสั้นมีหลายอาการด้วยกัน

อาการโรคสมาธิสั้นในแต่ละช่วงวัย
อาการของโรคสมาธิสั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย เด็กเล็กมักแสดงอาการในกลุ่ม Hyperactivity ยุกยิก ไม่นิ่ง เมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มักแสดงอาการในรูปแบบการขาดสมาธิที่ต่อเนื่องมากกว่า เช่นนั่งทำงานได้แป๊บเดียวก็หาอะไรทำ หรือคว้ามือถือมาเล่น เป็นต้น
อุบัติการณ์ของโรคสมาธิสั้นจากรายงานทั่วโลกพบเด็กวัยเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ประมาณร้อยละ 5-10 นั่นแปลว่า ในห้องเรียนหนึ่ง ถ้ามีนักเรียน 50 คน จะมีโอกาสพบเด็กโรคสมาธิสั้นในห้องนั้น 2-5 คน และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุการเกิดโรคสมาธิสั้น
• ปัจจัยด้านชีวภาพด้านสมอง พบว่าสมองมีความสัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้นคือสมองส่วนหน้า
• ปัจจัยด้านพันธุกรรมในเรื่องของยีนส์ พบยีนส์บางตัวที่ควบคุมเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมอง
• ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จะพบสมาธิสั้นมากในกลุ่มที่มีประวัติว่าคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์
“โรคสมาธิสั้นไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง แต่การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้อาการซน สมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กได้”

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นตามเกณฑ์ DSM-5 จำนวนอย่างน้อย 6 ใน 9 ข้อ ร่วมกับ
– แสดงอาการก่อนอายุ 12 ปี
– แสดงอาการอย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป (เช่น บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน)
– อาการรบกวนต่อหรือลดคุณภาพของการทำหน้าที่ด้านสังคม การเรียน หรือการทำงาน
– อาการต้องไม่เกิดในช่วงของโรคจิตเภทหรือโรคจิตชนิดอื่นๆ

แนวทางการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นที่จะพูดถึงในวันนี้ ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่
– การรักษาด้วยยา
– การปรับพฤติกรรม
ส่วนการรักษาและคำแนะนำอื่น ๆ อาทิ การฝึกสติ (Mindfulness) การให้อาหารเสริม นิวโรฟีดแบ็ค (Neurofeedback) ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางการแพทย์

เด็กสมาธิสั้นกับการปัสสาวะรดที่นอนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
มีสาเหตุบางอย่างร่วมกัน เช่น
– สมองยังมีการพัฒนาได้ไม่เต็มที่ มีพัฒนาล่าช้ากว่าคนอื่น ทำให้ควบคุมสมาธิหรือการขับถ่ายได้ช้ากว่าคนอื่น
– สาเหตุทางพันธุกรรมซึ่งพบได้ในทั้งสองโรค
พบว่าเด็กสมาธิสั้นมีปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย 20-30 เปอร์เซ็นต์ และเด็กที่มีปัสสาวะรดที่นอนมีภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือโรคสมาธิสั้นชนิดขาดสมาธิต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากหลายการนอนไม่พอ เนื่องจากมีการปลุกให้ลุกปัสสาวะในเวลากลางคืน
ปัสสาวะรดที่นอนจะวินิจฉัยเมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป สาเหตุหลักของปัสสาวะรดที่นอนคือ
– การหลับผิดปกติ ปลุกตื่นยาก
– ไตผลิตน้ำปัสสาวะมากกว่าปกติเวลานอน
– กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินเวลานอน

ปัสสาวะรดที่นอนส่งผลกระทบต่อเด็กหลายประการคือ นอนหลับไม่สนิท กลางวันง่วงนอน ขาดสมาธิ ขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า และอาจเป็นที่มาของความรุนแรงในครอบครัวได้

การรักษาหลักของปัสสาวะรดที่นอน
– การปรับพฤติกรรม ให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ปัสสาวะก่อนนอนทุกครั้ง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่จะทำให้มีน้ำปัสสาวะในปริมาณมาก เช่น น้ำหวาน นม อาหารรสเค็ม ขนมกรุบกรอบ
– การใช้เครื่อง Alarm เพื่อปลุกเตือนขณะปัสสาวะรดที่นอน
– การทานยา desmopressin เพื่อลดการขับปัสสาวะก่อนนอน
– การทานยา antimuscarinic เพื่อลดการบีบตัวกระเพาะปัสสาวะก่อนนอน

หากสงสัยว่าบุตรหลานของท่านมีอาการของโรคสมาธิสั้น และหรือปัสสาวะรดที่นอน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. และ รศ.พญ.นงลักษณ์ บุญชูดวง อาจารย์ประจำหน่วยพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่