อ.วิศวฯ มช. ร่วมประชุมรายงานศึกษาศักยภาพ CCS ในเหมืองแม่เมาะ เดินหน้านโยบายมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 อย่างเป็นรูปธรรม

16 พฤศจิกายน 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในโครงสร้างธรณีวิทยา และหัวหน้าโครงการวิจัยศักยภาพของชั้นหินในเหมืองแม่เมาะสำหรับการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ร่วมประชุมเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) มุ่งผลักดันแม่เมาะนำร่องสู่เมืองอัจฉริยะคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ พร้อมนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้บริหาร กฟผ. ให้การต้อนรับ รวมถึงรายงานความก้าวหน้าในกระบวนการต่างๆ เช่น ศักยภาพความเป็นไปได้ในการลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บไว้ในชั้นหินระดับลึกใต้เหมืองแม่เมาะ ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

การประชุมข้างต้น สืบเนื่องจากเหมืองแม่เมาะมีศักยภาพสามารถพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ทั้งยังมีมีความพร้อมเรื่อง CCS จึงเป็นหนึ่งจากสามหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ปตท.สผ. และ กฟผ.) ให้เร่งเดินหน้าศึกษาเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 หากสามารถพัฒนาได้ตรงตามเป้าหมาย และทำได้จริงด้วยราคาที่เหมาะสม จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน สร้างโอกาสให้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะดำเนินงานสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายหลักของประเทศ
ข้อมูลโดย : https://eng.cmu.ac.th/?p=30172
แกลลอรี่