CAMT จับมือ I AM CONSULTING นำ Blockchain มาสร้าง Education Sandbox เพื่อผู้เรียนในยุคดิจิทัล

9 พฤษภาคม 2565

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี


CAMT จับมือ I AM CONSULTING นำ Blockchain มาสร้าง Education Sandbox เพื่อผู้เรียนในยุคดิจิทัล เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 17.30 น. ณ depa สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคเหนือ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน อันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มุ่งเน้นการวิจัย และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้มีการวางแนวทาง CMU Transformation สู่ “ก้าวใหม่ มช.” เพื่อสนับสนุนการศึกษารูปแบบใหม่ ผลักดันในเรื่องการนำเทคโนโลยี มาพัฒนาการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้นแบบเพื่อชุมชน และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในยุคการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งจากที่กล่าวมานั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการ ปรับและเพิ่มเติมหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะเน้นไปในส่วนของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) งานวิจัยและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันทางวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา มุ่งปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา และมีการปรับโครงสร้างการบริหาร และนโยบายตามความจำเป็นเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการขยายผลจึงทำให้เกิดโครงการ Sandbox โดยวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สร้างหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ Digital Industry Integration ในรูปแบบ Education Sandbox ระดับปริญญาตรี โดยออกแบบหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ ทั้งทางด้านการเรียน และด้านการทำงานควบคู่กันไป ผู้เรียนสามารถจบหลักสูตรภายใน 3 ปี โดยใช้แบบจำลองหรือโมเดลจากเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งหลักสูตรนี้มุ่งเน้นเพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัล ป้อนผู้ประกอบการ SME เชียงใหม่ตามความต้องการของตลาด เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษา สามารถที่จะเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานในสถานที่จริง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ประธานหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (ปริญญาโท) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง มุมมองและการปฏิรูปภาคการศึกษา ทิศทางของหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้เรียนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาทำให้ช่วยให้การในการเรียนรู้ให้ง่ายมากขึ้น หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเริ่มจากการปฏิรูปตัวหลักสูตรเองก่อน โดยทลายโครงสร้างหลักสูตรที่ไม่ยืดหยุ่น ให้สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและผู้เรียนมากขึ้น นำการเรียนรู้แบบไฮบริด (hybrid learning) มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และครั้งนี้ทางหลักสูตรได้ร่วมมือกับบริษัท I AM CONSULTING ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ตั้งแต่การ พิสูจน์ตัวตน (eKYC) การเก็บชั่วโมงการเรียนรู้ในรูปแบบ Modular รวมถึงการออกประกาศนียบัตรดิจิทัล (Digital Certificate) ในรูปแบบ NFT และการเทียบโอนวิชาระหว่างหลักสูตร โดยใช้ Smart Contract ซึ่งจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อย่างแท้จริง


ในด้านเทคโนโลยี เราได้รับความร่วมมือจากทาง คุณวรวิทย์ รัตนธเนศวิไล รองประธานกรรมการ บริษัท I AM CONSULTING โดยร่วมยกระดับการศึกษาสู่การเป็น Digital University โดยมีปัจจัยความสำเร็จอยู่ 3 ด้านได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งเราได้ใช้ “xCHAIN ” ที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนของคนไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 node ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ประเด็นที่สองได้แก่ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่เชื่อถือได้ ซึ่งเราได้ร่วมกับ JID ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่าสี่แสนราย ซึ่งจะช่วยให้ทวนสอบย้อนกลับไปยังผู้เรียนได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่ออกโดยหน่วยงานต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และประเด็นสุดท้ายคือ ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง CAMT และ I AM CONSULTING ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเก็บชั่วโมงการเรียนรู้และการแลกประกาศนียบัตรได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีบล๊อคเชนเข้ามาใช้นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแรงงานพร้อมใช้และได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนได้ใช้งาน สามารถเลือกเรียนจากมหาวิทยาลัยใดก็ได้บนมาตรฐานเดียวกัน และเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ตนต้องการ ทำให้ลดระยะเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็สามารถเปิดหลักสูตรแก่บุคคลทั่วไปตาม concept lifelong learning เพิ่มกลุ่มเป้าหมายแก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์การทำงานที่เปลี่ยนไปของตนเอง ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขยายตัวมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความแตกต่าง

แกลลอรี่