ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร. สตีเฟ่น เอลเลียต หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา และ น.ส. เบญจพรรณ มโนหาญ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยา ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ "The road to recovery: a synthesis of outcomes from ecosystem restoration in tropical and sub-tropical Asian forests"
โดยงานวิจัยนี้ เป็นการประเมินผลของการปลูกต้นไม้ที่มีต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในทวีปเอเชีย ด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลการตาย และการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ 176 แปลง รวมทั้งแปลงสาธิตของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) และเปรียบเทียบการฟื้นตัวทางโครงสร้างและความหลายทางชีวภาพของแปลงฟื้นฟูและแปลงป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ
งานวิจัยอธิบายผลจากความพยายามปลูกป่าในพื้นที่ป่าถูกทำลายโดยสิ้นเชิงว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีต้นไม้บางส่วนหลงเหลืออยู่ ต้นกล้าที่ปลูกในพื้นที่ที่มีต้นไม้เหลืออยู่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของมาตรการป้องกัน และดูแลต้นกล้าที่ปลูกอย่างเข้มข้นในพื้นที่ที่ถูกรบกวนอย่างรุนแรง
การศึกษานี้พบว่า การฟื้นฟูที่มีกิจกรรมปลูกต้นไม้ (เช่น วิธีการพรรณไม้โครงสร้าง Framework Species Method, FSM) ช่วยเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เมื่อเทียบกับการปล่อยให้ป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ การศึกษาด้านการฟื้นฟูส่วนมากติดตามต้นไม้ที่ปลูกมากกว่าการฟื้นตัวเชิงโครงสร้างในระดับชุมชีพ
ปัจจุบันมีคนนับล้านที่กำลังปลูกต้นไม้พันล้านต้นทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยการลดระดับของแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง จุดหมาย Bonn Challenge มุ่งฟื้นฟูป่ารวม 300 ล้านเฮกตาร์ภายในปี พ.ศ. 2573
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุได้ในปัจจุบัน เนื่องจากขาดเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง
ระบบนิเวศป่าที่ฟื้นตัวตามธรรมชาติสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าพื้นที่วนเกษตร ถึง 6 เท่า และมากกว่าพื้นที่เพาะปลูกถึง 40 เท่า งานวิจัยนี้ได้นำเสนอหลักฐานว่าเทคนิคการฟื้นฟูป่าใดที่ประสบความสำเร็จและเทคนิคใดที่ล้มเหลว
หลักฐานดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อความพยายามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในการฟื้นฟูป่าเขตร้อน ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่รวมถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นแหล่งบริการด้านต้นน้ำ บริการด้านผลิตภัณฑ์จากป่า และการมีส่วนช่วยลดความยากจนของผู้คนในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 1 2 6 13 และ 15
งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร
Philosophical Transactions
of the Royal Society B
IF (2022) = 6.671 (Q1, ISI/Scopus)
Published:14 November 2022
ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1098/rstb.2021.0090