ปวดท้องแบบไหน.. เป็นไส้ติ่งอักเสบ

24 พฤษภาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ไส้ติ่งคืออะไร
ไส้ติ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ใกล้จุดที่ลำไส้เล็กมาต่อเข้ากับลำไส้ใหญ่ อยู่บริเวณท้องด้านขวาล่าง เป็นติ่งยื่นออกมาจากกระเปาะลำไส้ใหญ่ ลักษณะเป็นท่อปลายตัน
ความสำคัญของไส้ติ่ง ถ้าเป็นสัตว์กินพืชอย่างกระต่ายจะช่วยย่อยเซลลูโลสหรือไฟเบอร์ผัก แต่มนุษย์เราไม่สามารถย่อยได้ แต่ไส้ติ่งก็ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และสะสมเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยในระบบการย่อยอาหาร

ไส้ติ่งอักเสบได้อย่างไร
ไส้ติ่งเป็นท่อปลายตัน มีทางเข้าออกด้านเดียว เพราะฉะนั้นก้อนอุจจาระ อาหารที่ย่อยไม่ละเอียด หรือเมล็ดผลไม้ หากเข้าไปอุดในไส้ติ่งเกิดการอุดตันขึ้น หรือในเด็กที่มีต่อมน้ำเหลืองในไส้ติ่งโตขึ้นจนเกิดการอุดตันทางเข้าออก ทำให้เมือกที่สร้างจะสะสมมากขึ้นจนทำให้เกิดแรงดันจนเลือดมาเลี้ยงไส้ติ่งไม่ได้ทำให้ไส้ติ่งขาดเลือด อีกทั้งในรูไส้ติ่งมีจุลินทรีย์เติบโตขึ้น ทั้งสองกลไกทำให้เกิดการอักเสบของไส้ติ่ง หากทิ้งไว้นานรักษาได้ไม่ทันท่วงที ตัวแบคทีเรีย และอุจจาระ เมือกต่างๆ ที่อยู่ในไส้ติ่งจะแตกและกระจายเข้าสู่ช่องท้องจนเกิดการอักเสบที่รุนแรงได้
(ภาพแสดงการอุดตันของไส้ติ่งด้วยเศษอาหาร ทำให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ และภาพแสดงการแตกของไส้ติ่งหลังการอักเสบเป็นเวลานาน อุจจาระและของเสียกระจายเข้าสู่ช่องท้อง)

อาการคนเป็นไส้ติ่งอักเสบ
– ช่วงแรกจะปวดท้องบอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน บางคนปวดตื้อๆ บางคนปวดจุกเสียดลิ้นปี บางคนปวดท้องน้อย
– คลื่นไส้อาเจียน
– ไม่อยากทานอาหาร
– มีไข้
– ถ่ายเหลว
– อาการปวดย้ายตำแหน่ง กดเจ็บบริเวณด้านขวาล่าง
*เป็นอาการสำคัญที่เมื่อย้ายมาปวดท้องด้านขวาล่างต้องรีบมาโรงพยาบาล
– ปวดทั่วท้องมากขึ้นและมีไข้สูง อาจแสดงถึงภาวะไส้ติ่งแตก
– 48-72 ชั่วโมงหลังปวดท้อง มีโอกาสเกิดไส้ติ่งแตกได้
เมื่อมาโรงพยาบาล แพทย์ทำการตรวจอะไรบ้าง?
– ซักประวัติเรื่องอาการปวดท้อง โรคประจำตัว และยาที่รับประทานประจำ
– ตรวจร่างกายและการกดหน้าท้อง
•ในผู้หญิงจะทำการซักประวัติ ประวัติรอบเดือนในผู้หญิง
– เจาะเลือด
– ตรวจปัสสาวะ
– ตรวจการตั้งครรภ์
– อัลตราซาวน์ และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเรียกว่าซีทีสแกน (CT Scan) เมื่ออาการและการปวดท้องไม่ชัดเจน

ปวดท้องขวาล่างเป็นอะไรได้บ้าง?
เป็นการอักเสบของอวัยวะบริเวณนั้นได้แก่
– ลำไส้ใหญ่ เช่น กระเปาะโป่งพองลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis/Colitis) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
– ไส้เลื่อนมักมีก้อนบริเวณขาหนีบ
– หลอดเลือดแดงขาหนีบโป่งพองอักเสบ
– นิ่วในท่อปัสสาวะ
หากเป็นในผู้หญิง
– ถุงน้ำในรังไข่
– ตั้งครรภ์นอกมดลูก
– ติดเชื้ออุ้งเชิงกราน
– เนื้องอกรังไข่

กรณีแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่ง จะแนะนำให้ผ่าตัด โดยทั่วไปการผ่าตัดมี 2 วิธี คือ
1. ผ่าไส้ติ่งแบบเปิด ไส้ติ่งอักเสบกรณียังไม่แตก แผลจะอยู่บริเวณ ขวาล่างเป็นได้ทั้งแบบตรงและแบบเฉียง กรณีวินิจฉัยว่าไส้ติ่งแตกกระจาย การผ่าตัดจะลงแผลยาวกลางท้องเพื่อง่ายต่อล้างสิ่งสกปรกและหนองที่แตกกระจายในช่องท้อง
2. คือผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องแผลจะเล็ก มี 1-3 แผล ประมาณ 1 เซนติเมตรบริเวณสะดือ เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปผ่าตัด วิธีนี้จะสามารถผ่าได้ในกรณีที่ไส้ติ่งยังไม่แตก หรือแตกแล้วก็ได้

การดูแลหลังการผ่าตัด
– ในช่วงแรกถ้าเป็นแผลผ่าตัดเปิดใหญ่ กล้ามเนื้อจะถูกตัดไปด้วยส่วนหนึ่ง หลังเย็บแผลกล้ามเนื้อจะไม่แข็งแรง ให้หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก ยกของหนัก เพื่อไม่ให้เกิดไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
– รับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่ง
– ติดตามผล ตัดไหม
– เช็คผลชิ้นเนื้อว่าไส้ติ่งที่ส่งตรวจว่ามีเนื้อร้ายหรือไม่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :อ.นพ.เอกรินทร์ ศุภตระกูล อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
ภาพ: นายแพทย์ ไกรภพ ว่องไวยุทธ์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 1 ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สถาบัน เชียงใหม่ – วชิระพยาบาล
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่