เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐาน เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และความเข้มข้นของออกซิเจน เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สัญญาณชีพเหล่านี้มีผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยระหว่างการส่งโรงพยาบาล และระหว่างอยู่โรงพยาบาล หากบุคลากรทางการแพทย์ที่รอรับผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลสามารถรับทราบสัญญาณชีพเหล่านี้ พร้อมทั้งพิกัดของรถฉุกเฉินด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันตลอดเวลาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ก็จะทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มช. และโรงพยาบาลสันทราย คิดค้นและพัฒนาเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย (CMUgency) โดยเป็นเครื่องที่สามารถวัดสัญญาณชีพพื้นฐาน ได้แก่ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และความเข้มข้นของออกซิเจน ที่สามารถแสดงผลให้กับบุคลากรผู้ช่วยเหลือบนรถฉุกเฉินได้ และสามารถส่งสัญญาณชีพได้ตามเวลาจริง (real-time) และพิกัดของรถฉุกเฉินผ่านระบบสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งได้เลือกใช้ระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่าระบบไวไฟ (Wi-Fi) มาก โดยเฉพาะบริเวณถนนหลวงซึ่งมักไม่มีระบบไวไฟให้ใช้ ซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องมากกว่า ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ที่โรงพยาบาลปลายทางสามารถตรวจสอบสัญญาณชีพดังกล่าวได้ตลอดเวลา
เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย (CMUgency) นี้ ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับแอปพลิชัน CMUgency ที่ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนตามประเภทของผู้ใช้งาน ได้แก่
- แอปพลิเคชัน CMUgency สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุ: ผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุสามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ และผู้ป่วยสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถฉุกเฉินบนแผนที่ได้ตามเวลาจริงตลอดเวลาระหว่างรอความช่วยเหลือ
- แอปพลิเคชัน CMUgency สำหรับศูนย์ประสานงาน: บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ประสานงานสามารถรับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุ สามารถตรวจสอบตำแหน่งของผู้ป่วยและรถฉุกเฉินได้บนแผนที่ และเลือกรถฉุกเฉินที่เหมาะสมเพื่อไปรับและดูแลผู้ป่วย
- แอปพลิเคชัน CMUgency สำหรับรถฉุกเฉิน: บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่บนรถฉุกเฉินสามารถติดต่อกับศูนย์ประสานงาน และตรวจสอบตำแหน่งของรถฉุกเฉินและผู้ป่วยบนแผนที่ได้ตามเวลาจริง
- แอปพลิเคชัน CMUgency สำหรับบุคลากร ณ โรงพยาบาลปลายทาง: บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลปลายทางสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถฉุกเฉิน และผู้ป่วยได้ตามเวลาจริง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสัญญาณชีพพื้นฐานของผู้ป่วยได้ตามเวลาจริงอีกด้วย โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้จากทุกที่ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
แพลตฟอร์มสำหรับเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย (CMUgency) จึงช่วยทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานด้านการแพทย์ ลดการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้งานอุปกรณ์/ระบบ ที่คนไทยเป็นผู้คิดค้นเพื่อตอบสนองความต้องการแท้จริง มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมการทำงานของท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ของคนไทย และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ราคาสูงจากต่างประเทศ
สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสร้างเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย (CMUgency) ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปีที่ 1 สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้สร้างเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานจำนวน 25 เครื่อง ซึ่งถูกใช้งานอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลเชียงดาว โรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลสะเมิง โรงพยาบาลเวียงแหง โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (อ.กัลยาณิวัฒนา) และโรงพยาบาลพร้าว และได้ผลการใช้งานเป็นที่น่าพึงพอใจ โครงการจึงได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ในปีนี้จึงเป็นการขยายผลจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานทั่วภาคเหนือ โดยจะสร้างเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐาน (CMUgency) เพิ่มอีก 42 เครื่อง อีกทั้งมีการปรับปรุงการทำงานของเครื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น