หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปรับเปลี่ยน “โฉมใหม่” สะอาดเอี่ยม สร้างความพึงพอใจ พร้อมเปิดให้บริการ

16 มิถุนายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหอผู้ป่วยแห่งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” ที่ได้รับการปรับโฉมให้สวยงาม สะอาดตา พร้อมให้บริการผู้ป่วยวิกฤตทางออร์โธปิดิกส์อย่างครบครัน ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและบริการที่ได้มาตรฐานสากล

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณ ชั้น 4 ของอาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ หญิง 1,หญิง 2, หอผู้ป่วยหนักออร์โธปิดิกส์และวิกฤตบาดเจ็บไขสันหลัง โดยหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 1และหญิง 2 ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยหญิงที่ได้รับอุบัติเหตุและบาดเจ็บในเรื่องของกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาท ข้อต่อต่างๆ ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพจากความเสื่อมในระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเนื้องอกกระดูกและมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูก ทั้งในผู้ป่วยใหม่และได้รับการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงมีหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์เด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี โดยมีการดูแลตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน ระยะก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด กายภาพบำบัดและระยะฟื้นฟูสภาพ ตลอดจนการดูแลแบบประคับประคอง

ส่วนหอผู้ป่วยหนักออร์โธปิดิกส์และวิกฤตบาดเจ็บไขสันหลัง ให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ กระดูกหักที่มีแผลเปิด ผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะวิกฤต ต้องการการปฏิบัติการฟื้นคืนชีพ ผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน โดยรับการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเตรียมการผ่าตัดฉุกเฉิน และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากพยาธิสภาพของโรค ต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ตลอดจนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง มีภาวะอัมพาตของแขนขา

ทั้งนี้โครงการปรับปรุงหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” ที่ได้งบประมาณในการปรับปรุงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม และสนับสนุนด้านสาธารณสุข ในการดูแลผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มศักยภาพทางด้านการแพทย์ที่ทันสมัย การเข้าถึงในการดูแลผู้ป่วยอย่างทันท่วงที รวมถึงระบบสนับสนุนการเรียนการสอนทางการแพทย์ ระบบสาธารณูปโภค และห้องประชุม ห้องปฏิบัติการที่ครบครัน โดยเป็นการสร้างทัศนียภาพ และภูมิทัศน์บริการ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการ และบุคคลากรทางการแพทย์ ”


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่