หลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม (CIM) จัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้และสร้างเครือข่ายนวัตกรรมนำเสนอผลงานค้นคว้าอิสระระดับประเทศ (National IS Pitching Day)

10 มีนาคม 2565

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        วันที่ 8 มีนาคม 2565 หลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager, CIM) เดินหน้าจัดกิจกรรมส่งท้ายก่อนปิดโครงการ เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านนวัตกรรมผ่านการนำเสนอผลงานค้นคว้าอิสระระดับประเทศ (National IS Pitching Day) แบบจัดเต็มและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคมหาวิทยาลัยผู้ร่วมหลักสูตร รุ่น 1 และ 2 จาก 3 ภูมิภาคอัน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จำนวน 216 คน ร่วมงาน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

        ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการรับฟังปาฐกถาพิเศษ “นโยบาย อว. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ” จาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมการบรรยายพิเศษ “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม” จาก คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจุดประกายผลักดันแนวคิดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนก่อนจัดให้มีกิจกรรมนำเสนอผลงานค้นคว้าอิสระโดดเด่น (IS Pitching Show) จากตัวแทนผู้รับรางวัลในแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค พร้อมกันนี้ภายในงานยังจัดให้มีการแสดงนิทรรศการผลงานแนวคิดขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมที่พร้อมต่อยอดในด้านต่าง ๆ มากกว่า 200 ผลงาน อาทิ ด้าน BCG Economy โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้านการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ด้านการเป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ ผู้ร่วมหลักสูตรได้พบปะ พูดคุย แบ่งปันองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกันอีกด้วย

        หลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม (CIM) เป็นหลักสูตรยกระดับศักยภาพผู้บริหารระดับสูงสำหรับองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างผู้จัดการนวัตกรรมที่สามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการช่วยพัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจในการสร้างธุรกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาค สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ตลอดจนหน่วยงานผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ระบบนิเวศนวัตกรรมแบบ “Quadruple Helix” ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการมอบหมายและสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุมดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในการจัดทำหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรมเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมผ่านแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนโดยอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างโดยเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและภาคใต้โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจากการจัดหลักสูตรดังกล่าวทั้ง 6 รุ่น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้จัดการนวัตกรรมเพื่อรวบรวมพลังความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่มากถึง 216 คน เกิดการสร้างโครงการด้านการจัดการนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เกิดระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในส่วนภูมิภาคอย่างยั่งยืน ทั้งยังเกิดโครงการที่ได้รับการต่อยอดแนวคิด (IS) เพื่อเสนอต่อแหล่งทุนสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรมในภูมิภาคมากถึง 216 โครงการ

        สำหรับกิจกรรมภายใต้หลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม ประกอบด้วย กิจกรรม Pre-workshop เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอบรม การจัดอบรมภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยใช้หลักสูตรมาตรฐานกลางที่จัดขึ้น 12 องค์ประกอบเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในนวัตกรรมอย่างรอบด้านจากวิทยากรระดับประเทศ การจัดทำการค้นคว้าอิสระ (Independent Study, IS) กิจกรรมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงาน จาก 6 องค์กรชั้นนำของประเทศ ด้านการจัดการนวัตกรรม ได้แก่ True Digital Park, Block 28 Creative & Startup Village, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.), EGAT Learning Center, Huawei Exhibition Hall และ บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด (The PARQ) และปิดท้ายด้วยกิจกรรมนำเสนอการค้นคว้าอิสระ
แกลลอรี่