คณะพยาบาลศาสตร์ มช. ผนึกกำลังร่วมกับ สสส. นำร่องพัฒนาอาสาอาชีวอนามัย จ.ลำพูน 17 แห่ง พัฒนาแอปพลิเคชัน Healthy i-Work สร้างสุขภาวะแรงงานนอกระบบอย่างยั่งยืน

2 ตุลาคม 2566

คณะพยาบาลศาสตร์


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปผลโครงการพัฒนาระบบและกลไกการบริการ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับแรงงานนอกระบบในชุมชน และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการขับเคลื่อนสุขภาพแรงงานนอกระบบ จังหวัดลำพูน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วน จังหวัดลําพูน เมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566
.
ผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ได้แก่ ผู้แทนจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดลําพูน ผู้แทนจาก 6 กลุ่มอาชีพ (ปลูกลําไย แกะลําไย เย็บผ้า ทําโคมล้านนา เฟอร์นิเจอร์ เกษตรกร) คณะกรรมการดําเนินงานโครงการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพในโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตําบล (รพสต.) โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอําเภอ สาธารณสุขจังหวัด บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการดําเนินงานการจัดบริการอาชีวอนามัยของหน่วยบริการปฐมภูมิ/รพ.สต. ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง เป็นการสร้างเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เกิดระบบการจัดบริการอาชีวอนามัยสําหรับแรงงานนอกระบบในชุมชนเขตอําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน นําไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบ
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดลำพูนได้มีการพัฒนาระบบและกลไกการบริการด้านอาชีวอนามัย รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบในชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสิ่งคุกคามต่อสุขภาพจากสภาพแวดล้อม ตลอดจนสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เน้นหลักการด้านการมีส่วนร่วมของแรงงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมกำหนดปัญหา ความต้องการ วางแผน และดำเนินการแก้ไขปัญหา ประเมินผล เกิดการตื่นตัว ความเข้าใจในปัญหาตามบริบทของตนเองได้ถูกต้อง
.
นอกจากนี้ได้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครอาชีวอนามัย (อสอช.) สำหรับแรงงานนอกระบบในชุมชน เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อเป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้และเฝ้าระวังสุขภาพจากการทำงานให้กับแรงงานนอกระบบในชุมชน ขณะนี้ อสอช. สามารถนำความรู้ไปปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในพื้นที่ จำนวน 36 กลุ่ม ขยายไปสู่แรงงานนอกระบบในพื้นที่ให้ทั่วถึงต่อไปนอกจากนี้ได้สร้างเครื่องมือหนุนเสริมโดยพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน "Healthy i-Work" แรงงานสุขภาพดี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแรงงานนอกระบบ ประเมินตนเองในการสัมผัสปัจจัยอันตรายจากการทำงาน ผลกระทบทางสุขภาพจากการทำงาน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวางแผนการดำเนินงานในการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย สร้างเสริมสุขภาพแก่แรงงานนอกระบบในชุมชนอย่างยั่งยืน
.
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. https://www.thaihealth.or.th/?p=346877

แกลลอรี่