ลูกช้าง มช. คว้ารองแชมป์ระดับประเทศ ในผลงานตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน NPM1 โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

1 มิถุนายน 2565
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
  

       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมนักศึกษา “Smart Tech Lab” คว้ารองแชมป์ระดับประเทศจากเวที โครงการประกวดวางแผนธุรกิจของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรม จากผลงานวิจัยในโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 9 (Research to Market Thailand 9th : R2M 9th) โดยทีมได้นำเสนอผลงานชุดตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน NPM1 โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ซึ่งการแข่งขันนี้ครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ, และ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ โดยจุดประสงค์ของโครงการคือการเปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้คิดค้นนวัตกรรม และนักศึกษา นำผลงานวิจัยมาพัฒนาโดยอาศัยกลไกและการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ผลักดันให้เกิดการต่อยอดและพัฒนางานวิจัย ตลอดจนเปิดช่องทางในการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยและนักศึกษาได้เรียนรู้ สร้างสรรค์ธุรกิจที่เกิดจากการจับคู่ผลงานวิจัยและการพัฒนาของมหาวิทยาลัยให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เพิ่มเติมความรู้แก่นักศึกษาและนักวิจัยเกี่ยวกับขั้นตอนของนวัตกรรมและการทำการตลาดของธุรกิจ

        อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) พร้อมกับตัวแทนนักศึกษา นางสาวมัลลิกา โอศิริพันธุ์ นายสุรจิต ชัยภูมิ และ นางสาวญาณิศา ยอดสวัสดิ์ คณะเทคนิคการแพทย์ ร่วมกับ นางสาวชนิดาภา แก้วประสิทธิ์ และนายสุวัจน์ พรพุทธศรี คณะบริหารธุกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีม Smart Tech Lab คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอผลงานวิจัยชุดตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน NPM1 โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ซึ่งเป็นผลงานที่มีความสำคัญและสามารถต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาการพยากรณ์ความเสี่ยงและการตัดสินใจของแพทย์ในการใช้วางแผนการรักษาผู้ป่วย ที่ปกติแล้วจะต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพง และต้องเป็นผู้ชำนาญการในการตรวจหรือแปลผลอีกด้วย โดยการแข่งขันผ่านรูปแบบออนไลน์ ณ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ความสำเร็จที่ได้รับผ่านตัวแทนทีม Smart Tech Lab

นางสาวมัลลิกา โอศิริพันธุ์

        “ด้วยความที่เราเป็นนักเทคนิคการแพทย์ รู้จักแต่การทำแล็บทำวิจัย ไม่เคยมีส่วนร่วมในวงการธุรกิจ เลยคิดว่าเป็นโอกาสค่ะ ที่จะได้เรียนรู้ว่างานวิจัยสามารถต่อยอดได้อย่างไร ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่มาพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์เฉยๆ เหมือนงานหน้าชั้นเรียน แต่เข้ามาร่วมจริงๆ แล้วไม่ใช่เลยมันมีอะไรมากกว่านั้นมาก ทั้งเราต้องเรียนรู้โมเดลธุรกิจ เรียนรู้วิธีการพรีเซนต์ ตอนประกาศรางวัลพวกเราเซอร์ไพรส์มาก ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ เพราะโอกาสที่จะได้มาเรียนรู้อะไรแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ”

นายสุรจิต ชัยภูมิ
        “ความรู้สึกก่อนวันแข่ง ถือว่ามีความกดดันในตัวเองค่อนข้างมาก เพราะต้องเป็นคน pitching ต้องจำเนื้อหาที่ต้องพูดให้ได้ และต้องพูดให้ทันเวลาภายใน7นาที พอถึงเวลาที่ได้แข่งจริงๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้เต็มที่แล้ว ได้ก้าวข้าม safe zone ของตัวเอง หลังจากแข่งเสร็จ ทุกทีมเก่งมากและนำเสนอได้ดีเลยทีเดียว พอถึงตอนประกาศผลรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 แล้วมีชื่อทีมของตัวเอง ตอนนั้นดีใจมาก เหมือนทุกอย่างที่เราทำมา ที่เราเหนื่อยกับมันมานาน มันกลายเป็นความสำเร็จที่ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง สำหรับรางวัลที่ได้มา ก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆในทีม พี่ๆทีมstep ทุกคนที่คอยให้คำแนะนำต่างๆ รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้คิดค้นงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่ดีแบบนี้ให้เรานำมาแข่งขันในครั้งนี้ครับ”


         โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์มีเป้าหมายที่จะบ่มเพาะนักศึกษาและบุคลากรใน เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการในการสร้างนวัตกรรม นักศึกษาผู้เข้าแข่งขันภายใต้โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ โดยจะมีการจัดกิจกรรม Boot Camp จำนวน 1 ครั้ง ซึ่งจะได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มาถ่ายทอดองค์ความรู้และเสริมสร้างทักษะด้านธุรกิจให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดภาคอุตสาหกรรม ได้รับการอบรมทั้งในเชิงความรู้ อาทิเช่น กิจกรรมการอบรมการใช้เครื่องมือดำเนินโครงการแก่นักศึกษา Lean Canvas , วิธีการนำเสนอ , การวิเคราะห์ตลาด , การวิเคราะห์การเงิน และการสำรวจตลาด เป็นต้น และกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฏิบัติจริง วางแผนจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานความก้าวหน้าพร้อมนำเสนอ

         ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยผู้เสนอผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม นักศึกษา ที่ปรึกษา วิทยากรและทีมผู้จัดโครงการ จำนวน 10 ทีม แต่ละทีมมีจำนวน 3- 5 คน และสมาชิกในทีมจะต้องมี 2 สาขาขึ้นไป การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 3 รอบด้วยกันคือ ระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยจะเฟ้นหาตัวแทนรอบภูมิภาคละ 9 ทีม เพื่อเป็นตัวแทนสู่รอบชิงชนะเลิศในระดับประเทศ

        มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวิจัย พัฒนานวัตกรรมที่จะสามารถนำมาพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ในอนาคต สนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อส่งเสริมนักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยให้มีความรู้ ความสามารถ ประกอบกับบูรณาการกิจกรรมนักศึกษาให้มีทักษะทางวิชาชีพอย่างเข้มแข็ง เพื่อที่ว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพพร้อมที่จะออกไปเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือสังคมและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป



แกลลอรี่