แพทย์มช. เตือน หน้าร้อนระวัง!! พิษสุนัขบ้า

27 เมษายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกถึงความร้อนระอุของอากาศในประเทศไทยกันแล้ว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้คาดการณ์ถึงช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้ว่าในหลายพื้นที่อาจร้อนจัด บางวันมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นแบบนี้ มีสิ่งที่ต้องระวังมากมาย หนึ่งในนั้น คือโรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัวที่อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามมาได้ เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย อาจถูกสัตว์ กัดหรือข่วน เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ซึ่งเป็น RNA virus ใน genus Lyssavirus ทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตเนื่องจากยังไม่มีวิธีการรักษา
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ จะถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัดหรือข่วน โดยเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่บาดแผลที่ถูกกัด หรือถูกเลีย ปกติจะไม่ติดเชื้อ นอกจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วน รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก จมูก ดวงตา ซึ่งสัตว์ที่เป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุด จะเป็นสุนัข ชื่อของโรคจึงทำให้เข้าใจกันผิดคิดว่าโรคนี้เกิดกับสุนัขเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ทุกชนิด เช่น แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว วัว ควาย ม้า สุกร เป็นต้น
สำหรับโอกาสของการติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้านั้น จะขึ้นกับความรุนแรงของบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบาดแผลที่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ และตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาก ส่วนการติดต่อโดยการหายใจนั้นมีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีจำนวนไวรัสในอากาศเป็นจำนวนมาก เช่น ในถ้ำค้างคาว ส่วนการติดต่อโดยการกิน และการติดต่อจากคนไปสู่คน เกิดขึ้นได้ยาก
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
ระยะฟักตัว (Incubation period) เป็นระยะที่ไวรัสเดินทางจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 1-3 เดือน โดยระยะเวลาสั้นที่สุดน้อยกว่า 7 วันและอาจนานมากกว่า 1 ปี
ระยะเริ่มแสดงอาการ (Prodrome) เป็นระยะที่เชื้อไวรัสเคลื่อนตัวจากเส้นประสาทส่วนปลายไปยังปมประสาท และเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน เจ็บแปลบ ชา หรือคัน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเริ่มจากบริเวณที่ถูกสัตว์กัดและลามไปยังบริเวณใกล้เคียงกับที่ถูกกัด อาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย หรือซึมเศร้า
ระยะแสดงอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมีอาการไข้ต่อมาจากระยะที่ 2 มีภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้น ช่วงแรกยังรู้สึกตัวปกติแต่ความสนใจสั้น หลังจากนั้นความรู้สึกตัวเป็นปกติจะสลับกับช่วงเวลาที่กระสับกระส่ายมากและต่อมาจะค่อยๆ ซึมลงและไม่รู้สึกตัวในที่สุด มีการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวน้ำ มีการหดเกร็งตัวบริเวณลำคอหรือหลอดเสียงทำให้เกิดความเจ็บปวดและกลัวในการกลืนหรือดื่มน้ำ ผู้ป่วยมักจะมีน้ำลายมาก อาจจะตรวจพบม่านตาขยายหรือหดเล็กชั่วคราว ขนลุกชัน เหงื่อออกมาก มีภาวะปอดบวมน้ำ การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วนหรือ เยื่อบุเมือกบุตา จมูก ปาก ให้มาพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
การดูแลผู้ป่วยหลังสัมผัสสัตว์ที่มีโอกาสเป็นโรค
การดูแลบาดแผล การล้างแผล ควรทำความสะอาดบาดแผลที่ถูกกัดหรือข่วนทุกแผลให้เร็วที่สุด โดยล้างแผลด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่ ให้ลึกถึงก้นแผลนานอย่างน้อย 15 นาที อย่าให้แผลช้ำ เมื่อซับแผลจนแห้งแล้ว เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างโพวิโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) หากไม่มีสามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% แทนได้
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นวัคซีนที่ผลิตจากการเลี้ยงเชื้อแล้วทำให้เชื้อตาย การฉีดวัคซีนสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular) หรือฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal) โดยการให้วัคซีนในช่วง 14 วันแรกจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะฉีดครั้งละ 1 เข็มโดยนัดฉีด 5 ครั้ง การฉีดเข้าในผิวหนังจะฉีดครั้งละ 2 เข็มนัดฉีด 4 ครั้ง แต่ถ้าสังเกตอาการสุนัขหรือแมวที่สัมผัส 10 วัน อาการของสุนัขและแมวปกติฉีดเพียง 3 ครั้ง หากถูกกัดหรือข่วนบาดแผลลึกทะลุผ่านผิวหนัง มีเลือดออกชัดเจน ถูกเลีย น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุหรือบาดแผลเปิด รวมทั้งค้างคาวกัดหรือข่วนแต่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน ให้ฉีดเซรุ่ม (Immunoglobulin)ที่ทำจากม้าหรือคนเข้าที่บาดแผลร่วมด้วย
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี หากมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์กัดหรือข่วนแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าป้องกันก่อนการสัมผัสโรคไว้ก่อน
นอกจากนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ายังสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนนัด (ในกรณีที่ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ต่อจากวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า)


ข้อมูลโดย อ.นพ.ปริญญา เทียนวิบูลย์
รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
#โรคพิษสุนัขบ้า