รู้เรื่องไขมันในเลือดสูง

27 กรกฎาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ตีบตัน ไขมันในเลือดไม่สัมพันธ์กับไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ดังนั้น ในคนผอม ย่อมมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้

กลไกการเกิดไขมันในเลือด
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ไขมันในเลือดที่สูงมากจากอาหาร ต้องอดอาหารถึงจะทำให้ไขมันในเลือดลดลง แต่แท้จริงแล้ว ถึงแม้จะอดอาหาร ไขมันในเลือดก็ไม่สามารถหายไปได้ เพราะไขมันในเลือดทั้งคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ส่วนมากมาจากการสร้างขึ้นในร่างกายเอง โดยตับ ส่วนน้อยมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป จากนั้นไขมันจะถูกลำเลียงไปตามกระแสเลือดในรูปแบบของไลโปโปรตีนชนิดต่างๆ ไปยังอวัยวะปลายทางเพื่อใช้ประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ใช้เป็นพลังงาน ใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ต่างๆ หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
คอเลสเตอรอลถูกนำไปสร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน จากต่อมหมวกไต ซึ่งทำหน้าที่ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เป็นต้น ส่วนไขมันในเลือดที่เหลือจะถูกขนส่งกลับมายังตับโดยกระบวนการต่างๆ วนเวียนเช่นนี้ไป
ดังนั้นคอเลสเตอรอลจากอาหารทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยน้อยมาก เมื่อเทียบกับการสร้างเองจากตับ

สาเหตุของไขมันในเลือดสูง
- กรรมพันธุ์
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- เพศชาย
- สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนไป เช่น อาหารที่รับประทานจะเป็นของทอด ของมัน เนื้อสัตว์แปรรูป หรือเบเกอรีมากขึ้น วิถีชีวิตยุคใหม่ ที่นั่งทำงานมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง
- โรคประจำตัวบางอย่าง ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น เช่น กลุ่มโรคไต ชนิดเนฟโฟรติก (nephrotic syndrome) ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น
- ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาต้านการอักเสบ กลุ่มสเตียรอยด์ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลสูงขึ้น

การวินิจฉัย
ทำได้โดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดระดับไขมันในเลือดชนิดต่างๆ ดังนี้
- คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
- ไขมันในเลือดชนิดดี (HDL)
- ไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL)
- ไขมันในเลือดชนิดอื่นๆ เช่น VLDL Chylomicron ซึ่งเป็นไขมันตัวกลาง

ไขมันในเลือดที่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและ หลอดเลือดสมองสูงขึ้น ได้แก่
- คอเลสเตอรอลรวม
- ไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL)
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ซึ่งตัวที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคมากที่สุด คือไขมัน LDL ส่วนไขมัน HDL จะเป็นไขมันดีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน

ไขมันชนิดดี (HDL) ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) มีหน้าที่อะไร และระดับปกติคือเท่าใด?


บทบาทและหน้าที่ของไขมันดี (HDL) และไขมันชนิดไม่ดี (LDL)

**ไขมันดี (HDL) : ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนและนำคอเลสเตอรอลจาก LDL ในกระแสเลือดกลับไปทำลายที่ตับ ดังนั้น ถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันน้อยลง การเพิ่มระดับ HDL ทำได้โดยการออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และกรรมพันธุ์
**ระดับ HDL ปกติในเลือด ผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


**ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) : ไขมัน LDL มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคอเลสเตอรอล ดังนั้น หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง จะมีโอกาสแทรกซึมไปเกาะผนังหลอดเลือดเรียกว่า Plaque หรือก้อนไขมันในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง เปรียบเหมือนท่อน้ำที่มีตะกอนเกาะบริเวณผนัง จึงเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันในที่สุด ยิ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ที่มีขนาดเล็กซึ่งพบในผู้ที่เป็นเบาหวาน ไขมัน LDL จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในผนังของหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันก็จะสูงมากขึ้น


นอกจากนี้ หากมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น มีความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดแรงดันจนตะกอนหรือก้อนไขมันในผนังหลอดเลือดแตก และกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลัน หากเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หัวใจวายเฉียบพลัน บางรายอาจเสียชีวิตทันที และหากเกิดบริเวณหลอดเลือดสมอง จะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น


**ระดับ LDL ปกติในเลือดไม่ควรเกิน 160 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในคนปกติ และไม่ควรเกิน 100-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบตันอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบแล้วควรมีระดับ LDL ไม่เกิน 55-70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มีหน้าที่อะไร และระดับปกติคือเท่าใด?


ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) : มักถูกใช้และสะสมเป็นพลังงานสำรองของร่างกาย มีหลักฐานทางการแพทย์ว่ามีความสัมพันธ์อยู่บ้างกับโรคหลอดเลือดตีบตัน อย่างไรก็ตาม ถ้าระดับสูงมาก เช่น มากกว่า 500-1,000 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะส่งผลแทรกซ้อนให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


**ระดับ Triglyceride ปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในคนปกติที่งดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง การลดระดับ Triglyceride ทำได้โดยการออกกำลังกาย ลดอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ลดน้ำหนัก งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาการของโรคไขมันในเลือดสูง
ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น หากรอให้แสดงอาการ มักจะเป็นอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดตีบตัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจวาย อัมพาต ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลต่อความพิการของร่างกายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต


หากมีไขมันในเลือดสูงในปริมาณที่มากและนาน จะสะสมยังบริเวณตับซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่สร้างและขจัดไขมันในเลือดเกิดเป็นภาวะไขมันพอกตับได้ ซึ่งภาวะไขมันพอกตับนี้น่ากลัวเช่นกัน เพราะหากเป็นนานๆ จะนำไปสู่ภาวะตับแข็งและตับวายได้
โรคไขมันสูงด้วยพันธุกรรมบางราย เช่น โรคไตรกลีเซอไรด์สูงเกิน 1,000 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจพบตุ่มไขมันสีเหลืองขึ้นตามผิวหนังได้ หรือโรคที่ระดับคอเลสเตอรอลสูงเกิน 300-500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจพบปุ่มปมของไขมันเกาะอยู่ตามเส้นเอ็นข้อมือ เอ็นข้อเท้าร้อยหวาย อาจพบวงแหวนที่ขอบกระจกตา ซึ่งอาการแสดงเหล่านี้มักแสดงออกตั้งแต่เด็กหรือผู้ใหญ่ตอนต้น
เพราะฉะนั้น ไขมันในเลือดสูงส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายประการ จึงควรตรวจเลือดคัดกรองตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป บางประเทศมีคำแนะนำให้คัดกรองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ หากพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการปรึกษา หาสาเหตุ ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน และวางแนวทางการรักษา

แนวทางการรักษา
ปัจจุบันการรักษาไขมันในเลือดสูง ไม่ได้เพื่อรักษาตัวเลขค่าระดับไขมัน แต่เป็นการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะฉะนั้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์และประเมินว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันมากน้อยแค่ไหน โดยตรวจหาปัจจัยในเรื่องไขมัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หากมีโอกาสเส้นเลือดตีบตันสูง แพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อปรับวิถีชีวิต และใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด


หากปัจจัยการเกิดหลอดเลือดตีบตันไม่สูงมาก แพทย์จะให้เริ่มปรับพฤติกรรมวิถีชีวิตก่อน เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันสูง จำกัดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเลจำพวกหอยและปลาหมึก ขนมเบเกอรี่ที่มีส่วนประกอบของเนย ไข่ แป้ง และน้ำตาลสูง เป็นต้น ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่มระดับ HDL โดยควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง แบบแอโรบิก อย่างน้อย 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ (ภายใน 6 เดือน) ของน้ำหนักตั้งต้น เช่น น้ำหนัก 100 กิโลกรัม จะต้องลดลง 8-10 กิโลกรัม จึงจะเริ่มเห็นผลดีของเรื่องระดับไขมันในเลือด


การรับประทานยาลดระดับไขมัน
ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ปัจจุบันมียาหลายชนิด ทุกชนิดล้วนผ่านกระบวนการประเมินความปลอดภัย ไม่ส่งผลทำลายตับไต เมื่อคำนึงถึงผลข้างเคียงจากยาลดไขมันซึ่งพบได้น้อยมาก กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการลดระดับไขมันในเลือดแล้วพบว่ามีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง


โดยสรุปแล้ว โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภัยเงียบ ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันดังกล่าวไว้เบื้องต้น ควรจะรีบมาเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ผศ.พญ.นิพาวรรณ ไวศยะนันท์
อาจารย์หน่วยระบบต่อมไร้ท่อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่