แพทย์ มช.ชี้”ไข้อีดำอีแดงมาแรง! ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อ

7 มีนาคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

แพทย์ มช. เตือน “ไข้อีดำอีแดง” ระบาดในเด็ก แนะรีบรักษาป้องกันแพร่เชื้อ พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง หากเด็กมีอาการเสี่ยง ควรแยกจากผู้อื่นและพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ป้องกันการแพร่กระจายในโรงเรียน
พญ.ณัฐชยาญ์ คุณานิจถาวร แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคติดเชื้อ ชั้นปีที่ 2 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ เสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) เป็นเชื้อก่อโรคสำคัญของคอหอยหรือทอลซิลอักเสบ สามารถสร้างสารพิษเรียกว่า อิริโทรเจนิกท๊อกซิน (Erythrogenic toxin) ซึ่งทำให้เกิดผื่นแดงตามตัว อีกทั้งเชื้อนี้สามารถก่อโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อผิวหนัง โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี พบได้น้อยมาก เชื้อชนิดนี้มักอยู่ในน้ำลาย เสมหะหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก สามารถติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอาละอองฝอยของเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม รด ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงผ่านทางมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
อาการของโรคนี้ จะพบไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนพลีย และปวดเมื่อยตามตัว อาจพบตุ่มนูนสีแดงที่ลิ้นคล้ายผลสตรอเบอรี่ ทอนซิลบวมแดงและมีหนอง รอบปากซีด อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโต หลังจากมีไข้ 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง บางรายจะมีผื่นลักษณะหยาบและสากคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ ต่อมาผื่นจะมีสีเข้มขึ้นบริเวณรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ข้อพับแขน เรียกว่า เส้นพาสเตีย (Pastia’ s line) หลังจากผื่นขึ้น 3-4 วันจะเริ่มจางหายไป และเมื่อผื่นจางลงหลัง 1 สัปดาห์ จะมีอาการลอกเป็นแผ่นของผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้า ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุย อาการผิวลอกนี้บางรายอาจจะพบติดต่อกันได้นานเป็นเดือน
ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้อีดำอีแดงของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ในปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบทั้งหมด 46 ราย แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่รายงานนี้มีโอกาสที่จะต่ำกว่าความเป็นจริงได้
การวินิจฉัยโรคจะอาศัยประวัติและอาการแสดงของโรคเป็นหลัก มักไม่มีความจำเป็นในการตรวจพิเศษเพิ่มเติม แต่สามารถตรวจยืนยันด้วยการตรวจบริเวณคอหอยและทอนซิลเรียกว่า “Throat swab for Group A Streptococcal Antigen Screening Test” ซึ่งผลเร็วภายใน 1 ชั่วโมง แต่จะมีเพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้นที่สามารถส่งตรวจได้
การรักษา แนะนำให้รักษาตามอาการ ร่วมกับการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น Penicillin V, Amoxicillin เป็นยาหลักเวลานาน 10 วัน แต่หากมีประวัติหรืออาการแพ้ยาดังกล่าวอย่างรุนแรง แนะนำให้ใช้ Clindamycin, Erythromycin หรือ Azithromycin แทน และหากแพ้ไม่รุนแรงให้ใช้ Cephalexin เป็นทางเลือกได้ เป็นต้น แม้อาการจะหายดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ความสำคัญของการรักษา คือ การแนะนำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบ 10 วัน (แต่หากได้รับยา Azithromycin แนะนำให้รับประทานให้ครบ 5 วัน) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง เช่น โรคไข้รูมาติก, กรวยไตอักเสบ
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการควรหยุดเรียนหรือแยกตัวออกจากผู้อื่น ไม่ควรใกล้ชิดผู้อื่นจนกว่าได้รับยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทั้งนี้ตามแนวทางการรักษาปัจจุบัน หากมีการระบาดของโรคไข้อีดำอีแดง ยังไม่มีคำแนะนำให้ปิดโรงเรียน แต่แนะนำให้แยกเด็กที่มีอาการสงสัยเข้าได้กับโรคนี้ออกจากคนอื่นเพื่อให้ไปพบแพทย์ และรับการวินิจฉัย รวมทั้งรับการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในโรงเรียน
โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิด แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยร่วมกับล้างมือ นอกจากนี้ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น”
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU #โรคอีดำอีแดง
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่