การแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งทางร่างกาย เกิดจากการที่ร่างกายเห็นว่ายาที่ใช้ในการรักษาโรค เป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้ร่างกายพยายามกำจัดยานั้น โดยที่ร่างกายจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อต่อต้านยา เกิดการหลั่งสารภูมิแพ้ต่างๆ ส่งผลปรากฏเป็นอาการแพ้ยา
โดยการแพ้ยาส่วนใหญ่ไม่สามารถคาดเดาอายุ เพศ ได้ว่าจะเกิดกับใคร แต่สามารถทราบได้ว่ายาชนิดไหนที่พบสถิติของการแพ้ได้บ่อย เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ยาแก้ปวด เป็นต้น หรือทราบได้ว่ายากลุ่มใดที่ควรระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการแพ้ยารุนแรง
อย่างไรก็ตามยาที่ไม่ค่อยจะทำให้เกิดอาการแพ้ ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น การแพ้ยา ไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยตั้งแต่เด็กแรกเกิดก็สามารถแพ้ยาได้ ไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ สาเหตุของการแพ้ยา โดยส่วนมาก ไม่สามารถระบุได้ ซึ่งปัจจุบันมียาบางรายการที่พบว่า การแพ้ยานั้น มีความเกี่ยวข้องกับยีนบางชนิดที่สืบทอดทางพันธุกรรมได้
วิธีการสังเกตและข้อแตกต่างระหว่าง
การแพ้ยา VS ผลข้างเคียงของยา
ความเหมือนกันของการแพ้ยากับอาการข้างเคียงที่เกิดจากยา คือ เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากยา ที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่อาการข้างเคียงเป็นสิ่งที่มีข้อมูลและสามารถคาดเดาได้ เช่น ทราบว่ายาชนิดนี้จะออกฤทธิ์บริเวณไหน จะมีผลอย่างไร ดังนั้นจะสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง และสามารถคาดเดาได้ถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียง และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นอาการข้างเคียงมักไม่ใช่ข้อห้ามการใช้ยา เพราะสามารถจัดการควบคุม ลดความรุนแรง หรือว่าป้องกันได้
ตัวอย่าง ยาแก้ปวดอักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่จำหน่ายโดยทั่วไป เมื่อรับประทานเข้าไปเพื่อมุ่งหวังรักษาอาการปวดและลดอักเสบ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ทราบด้วยว่ายากลุ่มนี้ มีผลในกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งสารบางชนิด ทำให้การสร้างเยื่อเมือกในกระเพาะลดลง อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะได้ ซึ่งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจัดเป็นอาการข้างเคียง โดยที่สามารถคาดเดาได้ว่าใครมีความเสี่ยงจะเกิดการอาการข้างเคียงดังกล่าวได้มาก เช่น ผู้สูงอายุอาจจะเกิดมากกว่า หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคกระเพาะ ก็อาจจะมีโอกาสเกิดมากกว่า รวมถึงขนาดยาที่ใช้ หากใช้ยาขนาดสูงหรือใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็มีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้มากกว่า เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดเป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแพ้ยาน่ากลัว และอันตรายกว่าอาการข้างเคียงจากยา ค่อนข้างมาก
อาการแพ้ยา
- ลักษณะของการเกิดการแพ้ยา
หากรับประทานยาชนิดนั้นครั้งแรกในชีวิต ยาโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หลังจากรับประทานยาเม็ดแรก จะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่งหลังจากรับประทานยาต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนถึงจุดที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันสมบูรณ์จึงจะเกิดอาการแพ้ โดยทั่วไป มักเกิดอาการแพ้ยาหลังเริ่มรับประทานยาต่อเนื่องราว 7-14 วัน ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันจะมีความแตกต่างของแต่ละบุคคล อาจพบหลังจากรับประทานยาต่อเนื่องนาน 1-2 เดือน หรือบางรายอาจพบน้อยกว่า 7 วัน
- อาการแพ้ยาทั่วไป
พบมากที่สุด คือ อาการทางระบบผิวหนัง เป็นผื่น คัน ขึ้นตามตัว บริเวณร่างกาย แขนขา หรือบริเวณใบหน้า โดยผื่นมีหลายรูปแบบมาก อาจจะมีผื่นนูน ผื่นราบ แต่ก็มักมีอาการคันร่วมด้วย นอกเหนือจากอาการผื่น ที่พบได้จะมีในเรื่องของบวม บริเวณใบหน้า เช่น ตึงหน้า ตา ปาก ก่อนที่จะนูนขึ้น บวมบริเวณใบหน้า ส่วนใหญ่กระจายตามทั่วร่างกาย
- อาการแพ้ยารุนแรง
อาการแพ้ยารุนแรงเฉียบพลัน อาจพบอาการผื่น ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หายใจหอบเหนื่อย ปัสสาวะ อุจจาระราด หลอดลมตีบ บางรายมีผื่นร่วมกับความดันตก หรือบางรายเป็นผื่น ปวดท้องเฉียบพลัน อาเจียน ซึ่งถือว่ารุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจจะเกิดทันที ต้องสังเกตยาที่เพิ่งรับประทานไม่นานก่อนเกิดอาการ
- อาการแพ้ยารุนแรงอื่นๆ เช่น
Stevens-Johnson syndrome จะมีอาการผื่นแดงตามร่างกาย ร่วมกับผื่นบริเวณเยื่อบุบางตำแหน่ง เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุของอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น โดยอาจมีการหลุดลอกของผิวหนังร่วมด้วยได้
Toxic epidermal necrolysis
อาการจะคล้ายกับ Stevens-Johnson syndrome แต่จะมีการหลุดลอกของผิวหนัง มากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวหนังในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะติดเชื้อ เป็นต้น จึงอาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้
Dress syndrome อาการผื่น ร่วมกับพบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายผิดปกติ เช่น การทำงานของตับผิดปกติ ระบบเลือดผิดปกติ เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าแพ้ยา
1. หยุดยา เนื่องจากยาบางตัวออกฤทธิ์นาน การหยุดเร็วจะช่วยลดโอกาสของการพัฒนาไปสู่อาการแพ้ยารุนแรง
2. ควรพบแพทย์ทันทีหลังจากหยุดยา
การประเมินและวินิจฉัยแพ้ยา
สาเหตุที่ควรพบแพทย์ทันทีหลังจากหยุดยาที่สงสัยแพ้ เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าเป็นการแพ้ยา เพราะอาการแพ้ยาบางชนิดอาจคล้ายคลึงกับภาวะโรคอื่น จึงจำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน นอกจากนี้ อาการแพ้ยาบางอย่างอาจต้องการการตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ และอาจต้องส่งผลเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ที่อาจเกิดการทำงานผิดปกติได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถพบได้ด้วยตาเปล่า รวมถึงเมื่อเราหยุดยาเนื่องจากเกิดอาการแพ้ อาจจำเป็นต้องมีตัวยาทดแทนยาที่แพ้ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคหัวใจพึ่งเริ่มรับประทานยาหัวใจ และมีอาการสงสัยแพ้ยาและหยุดยาไปเอง แต่ไม่ได้มาพบแพทย์ มีโอกาสที่ไม่ได้รับยาทดแทน ก็อาจทำให้โรคหัวใจกำเริบได้ เป็นต้น
เมื่อแพทย์ได้ตรวจและวินิจฉัยแล้วว่าสงสัยแพ้ยา แพทย์จะทำการปรึกษาต่อไปยังเภสัชกร โดยเภสัชกรจะทำการประเมินโดยพิจารณาจากกลไกของยาที่สงสัยแพ้ว่าสามารถเข้ากันได้กับอาการและระยะเวลาการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งเภสัชกรจะตามประวัติการได้รับยาในอดีตของผู้ป่วยโดยละเอียด ยิ่งทราบประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยมากเท่าไหร่ การประเมินแพ้ยาจะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลังจากมีการประเมินและวินิจฉัยอาการแพ้ยาแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามหลังจากการหยุดใช้ยาโดยเภสัชกร เนื่องจากหากหยุดยาแล้วอาการหายดีจึงจะสงสัย จะทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าน่าจะเป็นการแพ้ยา
ความสำคัญของบัตรแพ้ยา
1. การแสดงบัตรแพ้ยา เมื่อเข้ารักษาตัว ณ สถานพยาบาลต่างๆ ทั้งร้าน คลินิก โรงพยาบาล เป็นการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้
2. การพกบัตรแพ้ยาติดตัว เช่น พกติดบัตรประชาชนในกระเป๋าเงิน จะมีประโยชน์กรณีเกิดอุบัติเหตุ หมดสติ ไม่สามารถสื่อสารเรื่องประวัติแพ้ยาได้ บัตรแพ้ยาจะเป็นสิ่งที่ช่วยสื่อสารแทนตัวเรา เพื่อให้หลีกเลี่ยงการได้รับยาที่แพ้ได้
ผลจากการได้รับยาที่แพ้ซ้ำ
เมื่อได้รับยาที่เคยแพ้ซ้ำ มีโอกาสที่อาการแพ้ยาจะเกิดขึ้นซ้ำ โดยอาจเกิดในครั้งที่ 2 อาจเกิดได้รวดเร็วขึ้นและพัฒนารุนแรงกว่าครั้งก่อน เช่น การแพ้ยาครั้งแรกเกิดอาการผื่น การได้รับยาครั้งที่ 2 อาจจะมีผื่นร่วมกับอาการของระบบร่างกายอื่นๆ ทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดอาการเฉียบพลันเพิ่ม มีหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอกร่วมด้วย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีประวัติแพ้ยาแล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีประวัติแพ้
ทั้งนี้ จึงไม่แนะนำให้ทดลองให้ใช้ยาที่เคยแพ้ซ้ำด้วยตนเอง หากจำเป็นต้องใช้ยา การทดลองใช้ยาที่แพ้ซ้ำ ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น โดยทั่วไปจะใช้เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการรักษามากกว่าความเสี่ยงของเรื่องอาการแพ้ยา รวมถึงยาหรืออาการแพ้บางอาการ จำเป็นต้องมีวิธีเฉพาะในทดลองใช้ยา เช่น ค่อยๆ เพิ่มขนาดยาทีละน้อย เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้
การป้องกันการเกิดแพ้ยา
-ในผู้ที่ยังไม่เคยแพ้ยามาก่อน
ปัจจุบันยาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถป้องกันการแพ้ได้ เนื่องจากการไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครหรือเมื่อไหร่
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมียาบางรายการที่พบว่าการแพ้ยามีความเกี่ยวข้องกับยีนบางชนิดที่สืบทอดทางพันธุกรรมได้ โดยสามารถตรวจยีนดังกล่าว ก่อนเริ่มใช้ยาได้ หากผลตรวจยีนเป็น positive หมายถึง ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการเกิดแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ให้บริการตรวจยีนแพ้ยาในยา 5 รายการ ได้แก่ Allopurinol, Carbamazepine, Nevirapine, Abacavir และ Dapsone ทั้งนี้การตรวจจะสามารถทำได้หากผู้ป่วยมีข้อบ่งใช้ในการใช้ยา ไม่สามารถขอตรวจเพื่อขอทราบผลยีนแพ้ยาโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวได้
นอกจากนี้ การใช้ยาโดยทั่วไป ควรรับยาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น แหล่งสถานพยาบาล คลินิก ร้านขายยาที่มีเภสัชกร เป็นต้น ไม่ควรใช้ยาชุดที่เป็นยาหลายเม็ดรวมกันในซองเดียว จากคนที่แนะนำมา แต่ไม่รู้ชื่อหรือแหล่งที่มา เนื่องจากหากเกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นจะไม่สามารถสืบค้นข้อมูล ทำให้ไม่ทราบชื่อยาที่แพ้หรือเกิดอาการข้างเคียง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการครั้งถัดไปได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ทราบชื่อยา
-ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา
สามารถป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำ โดยการแจ้งชื่อยาที่แพ้ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงให้ความร่วมมือ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ สอบถามเรื่องประวัติแพ้ยา และพกบัตรแพ้ยาติดตัวเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ภญ.ธนิสา กฤษฎาธาร
งานบริหารข้อมูลทางเภสัชกรรม
และสนับสนุนระบบยา ฝ่ายเภสัชกรรม
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่