สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็น "วันความดันโลหิตสูงโลก" (World Hypertension Day) เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนัก และเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากที่สุด และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่างๆ หลายระบบในร่างกาย ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้อย่างต่อเนื่อง มักเกิดภาวะแทรกซ้อน ต่ออวัยวะที่สำคัญเช่น หัวใจ หลอดเลือด ตา ไต สมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง
ปัจจุบันสำหรับประเทศไทยกำหนดค่าความดันโลหิตปกติ ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี คือค่าความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 120 และตัวล่างไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท
ความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร ?
มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดได้หลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะนํ้าหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน ความเครียดสะสม สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การรับประทานอาหารเค็มจัด รวมถึงพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้พลังงานในการทำกิจกรรมน้อย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้
ความดันโลหิตสูงมีอาการอย่างไร ?
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย ตามัว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
การปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการลดความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยไม่ต้องพึ่งยา
1. การลดน้ำหนัก
2. ออกกำลังกาย (ให้เหมาะสมตามช่วงอายุรายบุคคล)
3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสชาติเค็ม เค็มจัด
5. งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. เลิกสูบบุหรี่
7. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ( สำหรับรายบุคคลที่ไวต่อคาเฟอีน *ข้อมูลอยู่ในระหว่างศึกษายังไม่ได้รับข้อสรุป)
8. หมั่นดูแลตนเอง ชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดค่าความดันอยู่บ่อยครั้ง
9. มีเครื่องวัดความดันสำหรับพกพาไว้ หมั่นเช็คจนเองและคนในครอบครัว
10. นั่งสมาธิ ฝึกจิตใจ อารมณ์ (ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เมื่อนั่งสมาธิต่อเนื่อง ความดันโลหิตจะลดลง)
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องคอยควบคุมอาการไปตลอด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ตรวจพบอาการได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้อีกด้วย
ข้อมูลโดย อาจารย์ แพทย์หญิง ทรรศลักษณ์ ทองหงษ์ อาจารย์ประจำศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #สื่อสารองค์กรMedCMU
#วันความดันโลหิตสูงโลก