เมื่อก้าวสู่วัยมีประจำเดือน สัญญาณปวดประจำเดือน เป็นอาการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่คุ้นเคยเป็นอย่างดี บางรายมีอาการปวดไม่มาก เมื่อได้รับประทานยาอาการจะทุเลาลง แต่ในบางราย ปวดมากจนถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ เพราะฉะนั้นควรสังเกตุอาการ และระดับการปวด เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะความผิดปกติของมดลูกได้
สัญญาณเตือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอาการที่ร่างกายสร้างสารบางอย่างที่เรียกว่า “พรอสตาแกลนดินส์” (prostaglandins) มาจากเนื้อเยื่อที่หลุดลอกประจำเดือนออกไปทุกเดือน จะมีการสร้างสารขึ้นมาไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และทำให้มดลูกบีบตัว หากมดลูกบีบตัวมากขึ้น จะมีการขาดเลือดในบางจังหวะของมดลูก สารที่ขาดออกซิเจน สารเคมีต่างๆจะสะสมอยู่ตรงบริเวณนั้น กระตุ้นให้มีการปวดเพิ่มมากขึ้น
อาการปวดประจำเดือนบางรายปวดมาก ปวดน้อย มีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความอดทนต่อความเจ็บปวดของแต่ละบุคคลด้วย และขึ้นอยู่กับว่ามีพยาธิสภาพอื่นๆซ่อนอยู่หรือไม่ บุคคลที่มีโรคอื่นๆในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วยก็อาจจะทำให้มีอาการปวดมากกว่าบุคคลปกติได้ โดยอาการปวดมดลูกจะปวดบริเวณท้องน้อย ตรงบริเวณมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
การปวดประจำเดือนจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นภาวะปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) ไม่มีสาเหตุหรือรอยโรคซ่อนอยู่ กลุ่มนี้จะเป็นวัยรุ่นที่มีอายุน้อยตั้งแต่มีประจำเดือน ไปจนถึงอายุ 20 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม ภาวะปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) คือ กลุ่มนี้มักจะมีรอยโรค หรือที่เรียกว่าพยาธิสภาพซ่อนอยู่ภายในมดลูก จะพบในวัยที่เกิน 20 ปีขึ้นไป หรือ 30-35 ปีขึ้นไป
สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ (Endometriosis) หมายถึง พบเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูก เช่น ถ้าเจริญเติบโตที่รังไข่เป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ที่เต็มไปด้วยเลือดประจำเดือน หรือเรามักจะเรียกติดปากกันว่า ช็อคโกแลตซีสต์ หากเกิดที่ท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่ถูกดึงรั้งหรืออุดตัน และหากเกิดที่กล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกมีพังผืดดึงรั้ง มดลูกมีขนาดโตขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้เนื้องอกของตัวมดลูกจะพบค่อนข้างมากเป็นเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก มีเซลล์บางอย่างที่มีการกลายพันธุ์เจริญมากผิดปกติ เกาะกลุ่มกันอยู่สร้างเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา และเนื้องอกมดลูกนี้เกิดได้หลายตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับอาการว่าโตตรงบริเวณไหน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปวดได้เช่นกรณีที่เนื้องอกยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก ก็จะทำให้มีอาการปวดขึ้นได้
สัญญาณเตือน อาการปวดประจำเดือนที่สาวๆพบอยู่ ต้องหมั่นตรวจเช็คดูก่อนว่ามีความรุนแรงระดับไหน หากรู้สึกไม่สบายช่วงที่มีประจำเดือน อาจจะพักประคบร้อนแล้วรู้สึกบรรเทาขึ้น ตรงนี้อาจจะไม่เป็นอะไร อย่างไรก็ตามหากไม่มีอาการ อยากแนะนำว่าหากถึงวัยอันสมควร อยากให้มาตรวจภายใน หรือตรวจประจำปี การตรวจภายในจะช่วยค้นหาสาเหตุได้เร็วก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น
กรณีไหนที่ควรจะรีบมา คือมีอาการปวดปานกลาง ถึงขั้นรุนแรง รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน บางรายทำงานไม่ได้ หรือขาดเรียนเป็นต้น หากมารับการตรวจประเมิน หรือได้รับการรักษา ก็จะทำให้การดำรงชีวิตดีขึ้น
ผู้หญิงควรได้รับการตรวจภายในเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ควรมาตรวจ 2-3 ปีหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ควรที่จะเข้ามารับการตรวจ บางรายปวดประจำเดือน 5-6 เดือน ก็รู้สึกปวดมากแล้ว ก็แนะนำให้มาตรวจดีกว่า เพราะอาจจะเป็นรุนแรงกว่าแบบปฐมภูมิ และมีภาวะอื่นที่พบบ่อยเช่น ทางเดินของประจำเดือนอุดตัน ระบายออกได้ไม่ดี ไปสะสมข้างในทำให้ผู้ป่วยมีอาการเร็ว หากสมมุติว่าผู้ป่วยไม่มีอาการเลย และคนทั่วไปที่อยากจะแนะนำให้มาตรวจ เมื่อเข้าสู่ภาวะวัยเจริญพันธุ์ ประมาณ 20 ปี ควรที่จะมารับการตรวจประเมินทุกปี เหมือนมาตรวจสุขภาพได้ และสิ่งหนึ่งที่แนะนำให้ควรมา คือปวดประจำเดือนแต่ใช้ชีวิตทนได้ แต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าจะเป็นสัญญาณเตือนว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่าก็ควรจะมาปรึกษา ค้นหารอยโรคว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่
นอกจากนี้การปวดประจำเดือนไม่ธรรมดา ควรที่จะต้องมา อาจจะปวดที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน เช่น ทุกทีเคยปวดประจำเดือน แต่คราวนี้อาการปวดยาวนานกว่านั้น ตอนไม่มีประจำเดือนก็ปวดท้องน้อย หรือส่วนที่ฝังแถวลำไส้ กระเพาะปัสาวะก็คือเรื่องของการขับถ่ายที่ผิดปกติไป หรือปวดมากขึ้นด้วยในช่วงระหว่างที่มีประจำเดือน ตรงนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าควรจะได้รับการตรวจเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นทำให้ปวด
ไม่สามารถอธิบายชัดได้ว่าเกิดจากอะไร หากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากมีบุตรเร็วขึ้น หรือหลายคน โอกาสที่จะมีการปวดประจำเดือนหรือเยื่อบุเจริญผิดที่จะลดน้อยลง ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน นอกจากนี้พันธุกรรมก็มีส่วน หากแม่มีอาการปวดประจำเดือน แม่มีเนื้องอกที่มดลูก เรามีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
หากผู้ป่วยเป็น ช็อกโกแลตซีสต์และผู้ป่วยไม่มีอาการ หากนานวันเกิดอาการติดเชื้อได้ เนื่องจากข้างในก้อนเนื้อชอคโกแลตซีสต์เป็นเลือดที่คั่งอยู่ เกิดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้ร่วมด้วย บางรายก้อนเนื้อรั่วและแตก ทำให้เกิดการระคายช่องท้องได้ และการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วย ทำให้มีพังผืดเกิดขึ้น ในบริเวณท้องน้อยได้ จะรบกวนการทำงานของท่อรังไข่ จะทำให้ผู้ป่วยมีบุตรยากได้
การรักษา
ระดับภาวะปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) จะเริ่มการรักษาด้วยการให้ยาแก้ปวด สามารถบรรเทาอาการได้ หากไม่ได้ผล แพทย์จะให้ฮอร์โมน ซึ่งจะมีให้เลือกหลากหลายทั้งรับประทาน ฉีด หรือใส่ห่วงที่เป็นฮอร์โมนเข้าไปในโพรงมดลูก
ภาวะปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) เมื่อรักษาด้วยยา และฮอร์โมนแล้วไม่ได้ผล หรือกรณีที่แพทย์พบรอยโรคใหญ่ ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัด การผ่าตัดขึ้นอยู่กับรอยโรคที่เป็น อาทิ หากผู้ป่วยเป็นชอคโกแลตซีสต์ แพทย์จะทำการนำเอาซีสต์ออก ตรงเจริญผิดที่ ก็จะมีการนำไฟฟ้าไปจี้ทำลายบริเวณนั้น หากเป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก แพทย์จะทำการผ่าตัด เนื่องจากไม่มียาที่จะทำให้ก้อนนั้นฝ่อเล็กลงได้
หมั่นสังเกตุอาการตัวเอง ว่าอาการปวดท้องน้อยสัมพันธ์กับการปวดประจำเดือนหรือไม่ เพราะมีอาการปวดท้องน้อยอีกหลายอย่างที่ไม่ได้มาพร้อมกับประจำเดือน ต้องหาสาเหตุว่าในความเป็นจริงเป็นโรคอื่นหรือไม่ บางรายมีภาวะลำไส้แปรปรวน ก็มาด้วยโรคปวดท้องน้อยได้ หรือติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ก็มาด้วยเรื่องปวดท้องน้อยได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องหมั่นตรวจอาการว่ามีความสัมพันธ์ต่อการปวดประจำเดือนจริงหรือไม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ปวดประจำเดือน
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU