"โรคหัวใจ" ไม่เลือกวัย อายุน้อยก็เสี่ยงได้

24 พฤศจิกายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงถึงปีละ 18.6 ล้านคน สำหรับอุบัติการณ์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 พบว่า มะเร็ง เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับรองลงมา ซึ่งการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ จึงมีการรณรงค์จัดงานวันหัวใจโลก (World heart day) ขึ้นในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เพื่อประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุยังน้อย ด้วยวิถีชีวิตในการรับประทานอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม มีการรับประทานอาหารขยะ (Junk food) หรืออาหารที่มีพลังงานสูง ไขมันสูงมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของการพบภาวะอ้วนในประชากรมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในที่สุด

โรคหัวใจมีหลายประเภทด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เป็นภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดแดงชั้นใน โดยมีการสะสมของตะกรันไขมัน ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการหนาตัวขึ้น จนมีการตีบตันของหลอดเลือด บางครั้งเมื่อเกิดในหลอดเลือดสมอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดสมองเปราะและแตกได้ด้วย หากเกิดพยาธิสภาพในหลอดเลือดแดงของอวัยวะใดในร่างกาย ก็จะเกิดโรคของอวัยวะนั้นตามมา
- การติดเชื้อที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ มักเกิดจากการติดเชื้อบักเตรี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อของเหงือกและฟัน รวมถึงการมีสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดมีเชื้อบักเตรีเข้าไปในกระแสเลือด เชื้อโรคเหล่านี้จะไปเกาะที่ลิ้นหัวใจและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมาด้วยไข้ร่วมกับมีภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากเกิดลิ้นหัวใจรั่ว ดังนั้น จึงควรการรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดีเสมอ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้าเกินไป ซี่งอาจรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้


สาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจ
- พันธุกรรม ความผิดปกติของยีนส์หนึ่งยีนส์ที่นำไปสู่การทำให้เกิดโรค เช่น ภาวะโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ส่วนใหญ่เป็นโรคที่มียีนส์หลายยีนส์ควบคุม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน
- ปัจจัยแวดล้อม เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และเกลือสูง ภาวะอ้วน การขาดการออกกำลังกาย โดยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ยีนส์ผิดปกติทำงานมากขึ้น และส่งผลทำให้เกิดโรคได้ในที่สุด


สัญญาณเตือน อาการที่ควรตระหนักรู้ของโรคหัวใจ
เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
1. เจ็บอกขณะออกแรง เช่น เดินขึ้นบันได เดินทางไกล ยกของหนัก แล้วมีอาการจุกแน่นอก หรือหนักอกเสมือนช้างทับอก จนต้องหยุดพักจึงจะดีขึ้น
2. ใจสั่น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่รู้สึกว่าเต้นเร็ว ช้า หรือไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่ายขึ้น วูบ หน้ามืด
3. อาการบวม เกิดจากการคั่งของน้ำในเนื้อเยื่อ เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ไตจะทำหน้าที่สะสมน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกายมากขึ้น น้ำที่เกินจะไปสะสมในบริเวณที่อยู่ต่ำตามแรงโน้มถ่วง หากยืนนาน ขาจะบวม หากนอนนานจะบวมบริเวณก้นกบ เป็นต้น
4. เหนื่อยง่ายขึ้น จากเคยขึ้นบันไดได้ง่าย ๆ สบาย ๆ กลายเป็นเดินขึ้นแล้วเหนื่อย ต้องหยุดพัก หรือนอนราบไม่ค่อยได้ มีอาการหายใจไม่ออก จนต้องหนุนหมอนสูงขึ้น จึงจะทำให้หายใจได้โล่ง
5. วูบหมดสติ อาจมีหรือไม่มีอาการใจสั่นร่วมด้วยก็ได้ แต่หากมีอาการใจสั่นร่วมด้วย จะทำให้คิดถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้มากขึ้น


การป้องกันโรคหัวใจ
- ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ควบคุมคอเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด
- ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม
- เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดินสายพาน เต้นแอโรบิก วิ่ง ว่ายน้ำ
- ไม่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.กฤษณ์ ลีมะสวัสดิ์
อาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่