ใหลตาย... ฆาตกรเงียบ คร่าชีวิตชายวัยฉกรรจ์
13 มิถุนายน 2565
คณะแพทยศาสตร์
โรคใหลตาย เป็นการบรรยายอุบัติการณ์หนึ่ง คือภาวะการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ในขณะที่นอนหลับหรือหลับไหลเสียชีวิต พบในกลุ่มคนที่อายุน้อย ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุมักจะเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจากหลายสาเหตุเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ในภาคอีสานของไทยมีความชุกของโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง ที่จะเกิดในกลุ่มคนที่อายุน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชาย ซึ่งความชุกของความผิดปกติในคนไทยค่อนข้างจะสูงมาก ถึงกว่า 4 ใน 1000 รายของประชากร จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ฉะนั้นหากนับจากโซนอื่น ที่นอกเหนือจากเอเชียอาคเนย์ไปแล้ว ในบางโซนของโรคก็จะไม่พบโรคนี้เลย เช่น รัสเซีย หรือแอฟริกา กลุ่มโรคนี้จะได้รับการถูกกล่าวถึงในหลายประเทศ ในกลุ่มเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเรียกว่าโรคใหลตาย หรือผีแม่ม่าย ในความเป็นจริงโรคนี้ในทางการแพทย์เรียกว่า บรูกาด้า ซินโดรม ซึ่งบางรายจะมีอาการเสียชีวิตไปเลย บางครั้งจะมีอาการผิดปกติ เช่นหายใจขณะนอนหลับ ดังแปลกๆ หรือตกเตียงดิ้น เพราะเกิดจากการหัวใจเต้นผิดปกติ แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจนรอดชีวิตได้ ชาวไทยจึงเรียกอาการเหล่านี้ว่าโรคใหลตาย
ที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยโรคใหลตายมากน้อยแค่ไหน
ในความเป็นจริงแล้วโรคอุบัติการณ์ของโรคไหลตาย ในบางดินแดนของโรคโดยเฉพาะในทางภาคอีสานของประเทศไทยสูงถึง 4 ใน 1000 ราย ซึ่งค่อนข้างจะสูงมาก แต่ไม่ได้แปลว่าทุกรายที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบนี้ จะเกิดภาวะใหลตาย แต่จะต้องมีเหตุและปัจจัยไปกระตุ้น แต่ในบางดินแดนของโลกอาจจะต่ำมาก เช่นในบางสหรัฐอาจจะไม่ถึง 0.2 หรือ 0.6 ใน1000 ราย เลยก็ได้ บางดินแดนอาจจะไม่พบเลย แต่การที่พบว่าใครซักคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างฉับพลันในขณะที่นอนหลับ สาเหตุที่บ่อยที่สุด แม้จะในอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ก็ไม่ได้เกิดจากโรคนี้อย่างเดียว สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ก็ยังคงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากได้รับการตรวจยืนยันแล้วไม่พบโรคอื่น ส่วนใหญ่แล้วในบริเวณนี้ของเอเชียอาคเนย์ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคใหลตาย หรือบูกาด้า ซินโดรม นั่นเอง
ในอดีตก่อนมีบรูกาด้า ซินโดรม ได้มีความพยายามในการค้นหาของโรคนี้ โดยแพทย์ของไทยก็เป็นกลุ่มแรกๆของโลกที่ได้ช่วยกันสืบค้นสาเหตุของโรค แต่ด้วยเหตุที่ว่า หาสาเหตุอื่นไม่พบ ซึ่งมีความสงสัยว่าอาจจะเกิดจากเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติหรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ด้วยความบังเอิญในช่วงแรกในรายที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นชายไทย กลุ่มวัยทำงาน ซึ่งไม่มีประวัติการมีโรคอื่นๆ แต่กลุ่มวัยทำงานเหล่านี้ได้มีปัจจัยร่วมที่สำคัญที่เจอบ่อย คือภาวะที่บุคคลนั้นไม่ได้รับการพักผ่อน ทำให้มีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติอย่างมาก ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดบางอย่าง หรือเกลือแร่ต่างๆในร่างกาย ที่ผิดปกติ ส่งผลให้การไหลเข้าออกของเกลือแร่ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ บกพร่องไป เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้ โซเดียมเข้าได้ไม่มากพอ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในร่างกายลัดวงจรได้ง่าย และทำให้เสียชีวิตฉับพลัน โดยมักจะเป็นตอนที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคุมการนอนหลับพักผ่อนถูกกระตุ้น ดังนั้นจึงมักพบในกลุ่มชายวันฉกรรจ์ หรือวัยทำงาน และเกิดขณะนอนหลับ
อย่างไรก็ตามเราพบโรคนี้ในผู้หญิงด้วย แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักเป็นผู้ชายที่ไม่มีคู่ครอง ทำให้ไม่ได้การช่วยเหลือหรือสังเกตพบขณะมีอาการในขณะที่นอนหลับ
ใครบ้างที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคใหลตาย
-กลุ่มคนที่มีญาติพี่น้องมีประวัติการเสียชีวิตในอายุน้อย คือน้อยกว่า 55 ปีในเพศชาย และน้อยกว่า 65 ปี ในเพศหญิง
-กลุ่มที่มีอาการผิดปกติในขณะที่นอนหลับ เช่นสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะรู้สึกใจไม่ดี หรือมีผู้สังเกตเห็นว่าเราหลับแล้วมีการหายใจเสียงผิดปกติ หายใจแบบหยุดๆ ขัดๆ อาการเหมือนหายใจไม่ออก แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมา
-บางคราวจะพบในกลุ่มที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหัวใจเพิ่มเติม
การตรวจวินิจฉัย
ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือบูกาด้า ซินโดรม หรือที่เรียกว่าโรคใหลตาย ในความเป็นจริงมีการตรวจทางการแพทย์โดยตรงคือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่จะมีประเด็นหนึ่งของการตรวจคืออาจพบความผิดปกติเป็นๆหายๆไม่ใช่ทุกครั้งที่แพทย์ตรวจ เพราะมีปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลรบกวนคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
สาเหตุ
-เกิดจากการไหลของเกลือแร่ โซเดียมสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ น้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
-ส่วนใหญ่เป็นกรรมพันธุ์ มีส่วนน้อยที่เป็นจากการกลายพันธุ์เอง มักพบในเพศชายเป็นส่วนใหญ่ และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ
ปัจจัยกระตุ้น
-สุรา
-เกลือแร่ผิดปกติ
-ไข้ หรืออุณหภูมิในร่างกายสูง
-ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
-กัญชา โคเคน ยาบ้า
การช่วยเหลือเมื่อพบผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-เข้าเรียนการช่วยฟื้นคืนชีพ
-คลำชีพจรทันที อย่างน้อย 5-10 วินาที
-หากไม่มีชีพจร เรียกสายด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ 1669 ทันที
-ควรเร่งให้ได้รับการกดนวดหัวใจ และให้การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะให้เร็วที่สุด เพื่อลดเวลาที่สมองขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรอดชีวิตจากใหลตายมาแล้ว มีโอกาสการเกิดซ้ำอยู่ในระดับต่ำๆ แต่เนื่องจาก แพทย์ไม่สามารถคาดเดาได้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้ เพราะฉะนั้น ในผู้ป่วยที่เคยเกิดความผิดปกติเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว แพทย์จะให้การรักษา โดยให้การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกหัวใจถาวร เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หากไม่มีสาเหตุอื่นหรือไม่มีข้อห้าม และหลีกเลี่ยงยาหรือปัจจัยกระตุ้น อาทิ สุรา กัญชา โคเคน ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้ทันที นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยให้สืบค้นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.นพ.นราวุฒิ ประเสริฐวิทยากิจ อายุรแพทย์ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ หน่วยวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ใหลตาย
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU