พิธีเปิดอาคารวิจัยกัญชาทางการแพทย์

5 กรกฎาคม 2565

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด จัดงานพิธีมอบอาคารวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด โดยอาคารดังกล่าวได้รับการออกแบบและดำเนินการตามมาตรฐาน GMP PIC/S ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาตามมาตรฐานระดับสากล มีการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการปลูก และมีการใช้เทคโนโลยี Indoor Cultivation มาตรฐานระดับ World-Class ซึ่งสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกได้ทั้งหมด จึงสามารถมั่นใจในคุณภาพของกัญชาที่จะใช้ในการศึกษาวิจัยการผลิตยาและการวิจัยทางคลินิก อาคารวิจัยดังกล่าวตั้งอยู่ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท

พิธีมอบอาคารดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี นาพรหม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี/ประธานคณะทำงานโครงการวิจัยด้านกัญชา กัญชงและพืชเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน คุณศุภเดช อำนวยสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด กล่าวนโยบายของบริษัทในการสนับสนุนงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี กล่าวแสดงความขอบคุณ กิจกรรมภายในงานได้มีพิธีการตัดช่อดอกกัญชาที่ใช้ในการวิจัย ซึ่งเป็นพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ มีสาร CBD ค่อนข้างสูง และ THC ต่ำ จากนั้นจะมีการเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาในอาคารปลูกทั้งหมด เพื่อส่งต่อให้กับคณะเภสัชศาสตร์นำไปสกัดหาสารสำคัญและเตรียมพัฒนาเป็นสูตรยาที่เหมาะสมต่อไป

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ได้ร่วมมือกันเพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยหลังจากการลงนามความร่วมมือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง วิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ไปแล้วนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายมุ่งเน้นการศึกษา วิจัยและพัฒนากัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก เนื่องจาก ทางมหาวิทยาลัย มีทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญตลอดทั้ง Value Chain ของการใช้ประโยชน์ของกัญชาเพื่อการแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์ และหาสภาวะในการปลูกที่เหมาะสมโดยคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนกลางน้ำการสกัด การควบคุมคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาเป็นสูตรยาโดยคณะเภสัชศาสตร์ ไปจนถึงปลายน้ำคือการทดสอบและการนำไปใช้ทางการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) โดยคณะแพทยศาสตร์ นอกจากการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีการนำส่วนที่เหลือจากการผลิต เช่น ใบ ลำต้น ราก และกากที่เหลือจากการสกัด มาต่อยอดในการทำวิจัย อีกทั้งยังมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือที่เรียกว่า Zero Waste

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัทฯ มีความคาดหวังร่วมกันที่จะพัฒนาผลิตยาจากกัญชาที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศทุกกระบวนการ ที่มีมาตรฐานเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้ยากัญชาเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทย อีกทั้งยังสามารถส่งออก ดังแนวคิด “ผลิตในไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก”

#ภาพ ศูนย์สื่อสารองค์กรฯ มช.

#ภาพ ข่าว หน่วยสื่อสารองค์กร มช.