สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด สอ.มช. ชี้แจงกรณีการลงทุนหุ้นกู้ในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

21 พฤษภาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการอำนวยการ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สอ.มช.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ ประธานกรรมการดำเนินการ เข้าพบ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี และผูู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจประเด็นที่ สอ.มช. นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หรือตราสารหนี้กับ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมยงยุทธ สัจจวาณิชย์ อาคารยุทธศาสตร์ มช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า


"ตามที่ สอ.มช. ได้นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ หรือตราสารหนี้นั้น เป็นไปตามกรอบข้อกำหนดของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ลงทุนเพียง 2.5% ของทุนดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งมีทุนดำเนินงาน จำนวน 10,797.84 ล้านบาท มีทุนสำรอง จำนวน 654.48 ล้านบาท" คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย รับทราบ และมีความเห็นว่า สัดส่วนการลงทุนเพียง 2.5% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทุนดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร มช. คาดการณ์ว่า บมจ.การบินไทย น่าจะได้รับการฟื้นฟูจากรัฐบาล และเชื่อมั่นว่า สอ.มช. ยังมีความมั่นคง ทั้งนี้ ขอให้ สอ.มช. ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางเพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่สมาชิกต่อไป


รองศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า จากที่มีข่าวเผยแพร่ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด (สอ.มช.) ลงทุนในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 270 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้สมาชิก สอ.มช. เกิดความกังวลใจต่อการลงทุนดังกล่าวนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกประประกาศสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด เรื่อง ชี้แจงกรณีการลงทุนหุ้นกู้ในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว


สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด (สอ.มช.) มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ภายใต้กฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ว่าด้วยข้อกำหนดการฝากหรือการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ พ.ศ. 2558 สอ.มช. ลงทุนในหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิหรือมีหลักประกัน ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไป และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ซึ่งสูงกว่าการลงทุนที่ พ.ร.บ.สหกรณ์กำหนด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 สอ.มช. ลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่ด้อยสิทธิ จำนวน 270 ล้านบาท ได้ลงทุน 170 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ครบกำหนดวันที่ 16 สิงหาคม 2571 ได้อัตราดอกเบี้ย 4.04% ต่อปี และลงทุนจำนวน 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ครบกำหนดวันที่ 3 พฤษภาคม 2577 ได้รับอัตราดอกเบี้ย 4.65% ต่อปี ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ชำระดอกเบี้ยตรงตามกำหนดและสม่ำเสมอ


ซึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 สอ.มช. มีทุนดำเนินงาน 10,797.84 ล้านบาท ทุนของสหกรณ์ 4,455.18 ล้านบาท และมีทุนสำรอง 654.48 ล้านบาท ลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 270 ล้านบาท คิดเป็น 2.50% ของทุนดำเนินงาน

  


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีสินทรัพย์ 256,665 ล้านบาท มีหนี้สิน 244,899 ล้านบาท มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% กองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้น 15% ธนาคารออมสินถือหุ้น 2%


จากประเด็นปัญหาสภาพคล่องของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอเข้า ครม. วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ประเด็นสำคัญได้แก่ กระทรวงการคลัง จะค้ำประกันหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 54,000 ล้านบาท เพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท และปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการชำระหนี้


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมต่างให้ความมั่นใจและเชื่อมั่นแก่สาธารณชนเกี่ยวกับสภาพคล่องและพร้อมให้การสนับสนุนแก่ บริษัทการบินไทยฯ


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าภายในระยะเวลา 1-2 ปี ไม่น่าจะเกิดปัญหาต่อตราสารหนี้ ส่วนในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ


หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) เจ้าหนี้มีทางเลือกคือ ฟ้องให้ตกเป็นผู้ล้มละลาย หรือฟ้องเพื่อฟื้นฟูกิจการ หากอนาคตบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องตกเป็นผู้ล้มละลาย สอ.มช. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตราสารการเงินจะได้สิทธิได้รับการจัดสรรหนี้ก่อน (First Right) และสมมติว่าศาลเลือกให้เข้าสู่โหมดฟื้นฟูกิจการ สอ.มช. ในฐานะเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเข้าไปร่วมดูแลและทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดำเนินการ สอ.มช. จะดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกอย่างดีที่สุดพร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและแจ้งสมาชิกให้ทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป

แกลลอรี่