ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จัดการสัมมนาความร่วมมือด้านการวิจัย ระหว่างศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เกศรินทร์ พิมรักษา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ บรรจงประเสริฐ หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน และกล่าวต้อนรับ
การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านนวัตกรรมวัสดุร่วมกันระหว่างทั้ง 2 สถาบัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ โดยมีนักวิจัยและบุคลากร จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตลอดจนผู้บริหาร คณาจารย์ที่ทำวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ และนักศึกษาบัณฑิตศึกษาคณะวิทยาศาสตร์เข้าร่วมการสัมมนา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ณ ห้อง CB-1220 ชั้น 2 อาคารเคมี 1 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ หนึ่งในพันธกิจหลักของศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คือ การผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ในรูปแบบงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า (Frontier research) และงานวิจัยเชิงประยุกต์ขั้นสูง (Deep Technology) ที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก็เป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยชั้นนำระดับชาติที่มีความพร้อมในการพัฒนางานวิจัย โดยเฉพาะด้านพลังงานและตัวเร่งปฏิกิริยา ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันนี้ดีที่ทั้ง 2 สถาบัน จะได้ร่วมกันทำงาน เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป
ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ
สรุปภาพรวมงานวิจัยของศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยสิทธิ์ บรรจงประเสริฐ หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์
การบรรยายภาพรวมเทคนิคแสงซินโครตรอนและเทคนิค XAS & Applications on Energy Materials โดย ดร.พินิจ กิจขุนทด
บรรยายเทคนิค PES และ XPS สำหรับงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ โดย ดร.ณรงค์ จันทร์เล็ก
บรรยายเทคนิค XTM สำหรับงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ โดย ดร.ภัคคนนันท์ ภัควนิตย์
และกิจกรรมภาคบ่าย มีการประชุมหารือความร่วมมือการวิจัยระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและ ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยต่างๆ ของนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่