STeP มัดรวมสิ่งสุดยอดที่เกิดขึ้นในปี 2022

5 มกราคม 2566

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปี 2022 เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ยอดเยี่ยมของ STeP เลยทีเดียว มีเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่นำพาการเปลี่ยนแปลงที่ดีเข้ามามากมาย เรามาย้อนดูกันสักหน่อยดีกว่าว่า หนึ่งปีที่ผ่านมามีสิ่งสุดยอดอะไรบ้างที่เกิดขึ้นใน STeP !


  • สุดยอดโครงการบ่มเพาะและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย: EGAT Innocomm

EGAT Innocomm โครงการวิจัยฝีมือทีม EIC (Entrepreneurship & Innovation Center) ของ STeP ที่ประยุกต์แนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดเข้ากับธุรกิจของผู้ประกอบการบริเวณรอบ กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพิ่มความรู้ สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ ทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนเพื่อเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาด ผลักดันธุรกิจระดับชุมชนไปสู่ระดับประเทศ


  • สุดยอดการผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์: Lanna 4.0 

โครงการ "ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม" โครงการที่ผลักดันนวัตกรรมเพื่อช่วยเกษตรกรไทยผ่านเทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลง ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือ UTD RF โดยเริ่มนำร่องจากผลผลิตของสหกรณ์การเกษตร 7 แห่งในภาคเหนือ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างตราสัญลักษณ์ สื่อสารเรื่องราวของผลผลิตข้าวแต่ละท้องถิ่นอย่างมีเอกลักษณ์ ไปจนถึงการจัดจำหน่ายและจัดส่งผลิตภัณฑ์ในโครงการสู่วงกว้างมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและบริการของไปรษณีย์ไทย นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพลังความร่วมมือของหลายภาคส่วนสามารถผลักดันนวัตกรรมที่เคยเป็นเพียงแค่งานวิจัยให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ และต่อยอดจากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำได้อย่างแท้จริง โดยโครงการนี้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดสองปี ภายใต้การดูแลของทีม LES (Laboratory & Equipment Services), ทีม FOODFABR (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) และทีม SIT (Strategy, Initiative and Transformation) ก่อนจบโครงการด้วยความสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ผ่านมา


  • สุดยอดการเปิดตัวที่สร้างแรงกระเพื่อมในวงการสตาร์ทอัพ: Basecamp24 

"Basecamp24" เป็นโปรแกรมพัฒนาศักยภาพและสร้างผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี STeP เป็นพี่เลี้ยงคอยนำทางทุกการเติบโต และผลักดันสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างรวดเร็ว การเปิดตัวโปรแกรมดังกล่าวนี้ ส่งให้ STeP กลายเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในฐานะอุทยานวิทย์ฯ ที่มีโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่วางแผนโปรแกรมเป็นลำดับขั้นในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการ โดยเป้าหมายของ Basecamp24 คือการเป็นกลไกลที่สามารถขับเคลื่อนเศรษกิจของประเทศ ด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจแบบครบวงจร 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2565 และได้นำทรัพยากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นักศึกษา รวมถึงงานวิจัย มาสร้างนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาในเชิงพาณิชย์และสังคมของภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน


  • สุดยอดนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของบุคลากร: ระบบแอร์สะอาด Positive Pressure

อากาศนับเป็นสิ่งสำคัญของร่างกายมนุษย์ และส่งผลต่อการทำงานต่าง ๆ ทั้งระบบทางเดินหายใจ และสมอง โดยทีม IQI (Infrastructure Quality Improvement) ของเราได้เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงมีการจัดตั้งโครงการจัดซื้อ ระบบเครื่องกรองอากาศ Positive Pressure คือการเติมอากาศที่กรองแล้ว หรือออกซิเจนในห้อง แล้วดันฝุ่นขนาดเล็ก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ออกไปตามช่อง รู ต่าง ๆ และ สร้างแรงดันบวกในห้อง เพื่อที่ฝุ่นข้างนอกไม่สามารถเข้ามาในห้องทำงานได้ โดยเริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เพื่อบุคลากรได้สูดอากาศที่สะอาด ปลอดภัย และบริสุทธิ์ ทำให้ในที่ทำงานมีออกซิเจนเยอะขึ้น ลดความเครียด จากการนั่งทำงาน และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อีกด้วย


  • สุดยอดโมเดลสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: CMU BCG Platform @ Mae Hia 

BCG Model คือรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งเน้นสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลือกแคมปัสแม่เหียะที่มีความพร้อมครบถ้วนเป็นพื้นที่ดำเนินงานภายใต้ชื่อ CMU BCG Platform @ Mae Hia ด้วยความช่วยเหลือและการพัฒนาของทีม IASA (International Affairs and Strategic Alliances) จาก STeP ก่อให้เกิดงานวิจัย ธุรกิจนวัตกรรม และธุรกิจเทคสตาร์ทอัพที่เอื้อประโยชน์แก่วิสาหกิจชุมชน สังคม รวมถึงเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สร้างคน สร้างงาน ทลายขีดจำกัดภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืนและมั่นคง


  • สุดยอดการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาชุมชน: การวิจัยพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ 

การวิจัยพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรด หนึ่งในโครงการที่ STeP ได้ดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเพื่อแก้ไขปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำ สืบเนื่องมาจากทางอบจ.ลำปางได้รับซื้อสับปะรดทั้งหมด 100 ตัน มาจากพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดชาวลำปางที่ได้รับความเดือดร้อน โดยแบ่งจำนวนหนึ่งให้ทางทีม FOODFABR (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) ของเราทำการวิจัยพัฒนาจนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อสับปะรดฟรีซดรายพร้อมทาน สับปะรดผงชงดื่ม สับปะรด Puree แบบชิ้นพร้อมทาน และน้ำสับปะรดเข้มข้น ซึ่งได้มอบเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรชาวจังหวัดลำปางนำสับปะรดไปแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า และสามารถเพิ่มรายได้จากผลผลิตได้มากขึ้น


  • สุดยอดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยี: Digital transformation

ที่สุดของการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในยุคที่มีการพัฒนาตลอดเวลา โดยทีม SIT (Strategy, Initiative and Transformation) เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยหัวใจหลัก ๆ ต้องมีความคล่องตัว ลดความซับซ้อนของขั้นตอนการทำงาน ทุกทีมมีความร่วมมือในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามผลการดำเนินงานได้ เพื่อให้บุคลากรในองค์กร เกิด Awareness ด้าน Digital transformation , Cyber Security และเกิด Process Optimization ได้แก่ ระบบตรวจสอบใบเสร็จ และระบบ 5/10,000 หรือกิจกรรม STeP Hackathon 2022 และยังมีการวางแผนสำหรับอนาคตเพื่อทันต่อกระแสการพัฒนาในยุค 4.0


  • สุดยอดโครงการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ: Startup Connect 

Startup Connect เป็นโครงการโดยทีม EIC (Entrepreneurship & Innovation Center) ที่ออกแบบมาเพื่อเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมดันหลังผู้ประกอบการสู่แนวหน้าในวงการ ช่วยให้เกิดการจับมือทางธุรกิจเพื่อต่อยอดแนวคิดและผลิตภัณฑ์ หยิบยื่นโอกาสทางการตลาดและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดับประเทศจากหลากหลายที่มา สานฝันผู้ประกอบการไม่ใช่แค่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคเหนือตอนบน สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน


  • สุดยอดความสำเร็จของการร่วมมือกับภาคเอกชน: โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล 

โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล โครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ที่ STeP ได้จับมือร่วมกับ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้ง สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง แนะนำวิธีตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงสร้างแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งได้ต่อยอดจนเกิดเป็น Sleeping Mask น้ำผึ้งทานาคา จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งป่าก๋อย จ.เชียงราย และผลิตภัณฑ์เทียนหอม อโรม่า จากวิสาหกิจชุมชนผึ้งจ๋าฟาร์มพะเยา นอกจากนี้ยังเสริมศักยภาพด้วยองค์ความรู้ด้านการเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อีกด้วย โดยความสำเร็จของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของทีม Local (Local Startup and Technology for Community) คนเก่งของเรานั่นเอง


  • สุดยอดความร่วมมือเพื่อสร้างการเติบโตสตาร์ทอัพ: MOU with SET 

การลงนามความร่วมมือระหว่าง STeP และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2022 ด้วยความร่วมมือนี้จะสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการในการดูแลของ STeP ได้มากขึ้น ผ่าน LiVE Platform ที่จะเข้ามาช่วยสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดทุน LiVE Exchange โดยมีทีม ISI (Innovative Startup Incubator) ของเราเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ได้ส่งต่อสตาร์ทอัพสู่การเติบโตแบบขั้นกว่าของการผลักดันในระดับสูงสุด


  • สุดยอดปรากฏการณ์ความร่วมมือเพื่อปั้น Deep Tech Startup: MOU with NARIT

การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ถือเป็นอีกปรากฎการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการสตาร์ทอัพ เมื่อมช.ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพภายใต้การดำเนินงานของ STeP ได้รับจับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชิงลึก หรือที่เรียกกันว่า Deep Tech อย่าง NARIT เพื่อวางแผนเตรียมปั้นธุรกิจนวัตกรรม Deep Tech Startup ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิศวกรรมขั้นสูงจากวงการดาราศาสตร์ ซึ่งการันตีได้เลยว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในสาย Deep Tech Startup สัญชาติไทยเพิ่มขึ้น พร้อมช่วยเปิดโลก เปลี่ยนมุมมองของการเป็นสตาร์ทอัพที่กว้างมากขึ้นอย่างแน่นอน


  • สุดยอดรางวัลการันตีความสามารถด้านการออกแบบ: Good Design Award 2022 

ปลายปี 2022 Japan Institute of Design Promotion (JDP) มอบรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม Good Design Award 2022 ให้กับทีมสร้างสรรค์และการสื่อสาร อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเราจากผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์จากกาบกล้วย สำหรับผลิตภัณฑ์กล้วยเฉียบ ในโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี (Design Excellence Award: DEmark) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุธรรมชาติเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะช่วยลดขยะจากการผลิตและย่อยสลายได้แบบ 100 % เป็นการออกแบบตามแนวคิด Zero Waste ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการรับประกันถึงความสามารถของทีมสร้างสรรค์และการสื่อสาร ที่จะสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพต่อผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของเราได้อย่างยอดเยี่ยม



และทั้งหมดนี้คือ สิ่งสุดยอดที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2022 ที่ STeP มัดรวมมาให้ได้ประมวลความทรงจำกัน หากใครมีความทรงจำดี ๆ หรือสิ่งที่ประทับใจในปี 2022 ที่อยากเล่า แล้วเรามาติดตามดูกันว่าปีหน้าจะมีเรื่องสุดยอดอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แกลลอรี่