12 พฤศจิกายน วันปอดอักเสบโลก (WORLD PNEUMONIA DAY)

14 พฤศจิกายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันปอดอักเสบโลก หรือวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day) เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงและเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 6 (อัตราผู้ป่วยใน 1,083.77 ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีอัตราป่วยสูงในประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 4 ปี และอายุมากกว่า 60 ปี) และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 (อัตราการเสียชีวิต 49.7 ต่อประชากร 100,000 คน) (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2564)

กลุ่มเสี่ยงของโรคปอดอักเสบ คือใครบ้าง
– เด็กเล็ก
– ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
– หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์)

สาเหตุของการเกิดโรค
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 อาร์เอสวี) จากการสูด สำลักสารคัดหลั่งจากช่องปากและคอ หรือการสูดหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างและถุงลมปอด ในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบจากการติดเชื้อราหรือเชื้อปรสิตเพิ่มเติมจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ อาจจะมีเสมหะร่วมหรือไม่ก็ได้ หายใจหอบเหนื่อย บางรายมีเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอ บางรายอาจมีอาการน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัวนำมาก่อน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการซึม สับสน อุณหภูมิกายต่ำ ภาวะช็อก มีความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ (น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์) และภาวะหายใจล้มเหลว

การรักษา
– ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ เป็นต้น
– ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีอัตราการหายใจเร็ว ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ซึมหรือสับสน จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยจะได้รับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ร่วมกับการให้ออกซิเจนและการให้สารน้ำ รวมทั้งการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค
หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่