อาจารย์แพทย์ มช. ตรวจประเมินผลกระทบทางสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า หวังผลักดันนโยบายให้เสือไฟที่มีสิทธิการรักษาที่ชัดเจน

3 กรกฎาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานเครือข่าย ดำเนินการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกลุ่ม ลาดตระเวนและดับไฟป่าตามนโยบายและติดตามการเตรียมการความพร้อม รับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อตรวจประเมินสมรรถภาพทางร่างกายและเฝ้าระวังดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน


ผศ.นพ.พีระสัก อัศวนพคุณ รองหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเตรียมภาวะสุขภาพก่อนการปฏิบัติงาน (ครั้งที่ 1) เมื่อเดือนธันวาคม 2566 และดำเนินการตรวจภาวะสุขภาพหลังการปฏิบัติงาน (ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2567ที่ผ่านมา โดยการดำเนินของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์เป็นการหาแนวทางด้านการวิจัยมุ่งเป้า ตอบสนองพันธกิจของคณะแพทย์ มช. ผลงานวิจัยจะมุ่งและเน้นเรื่องมลพิษทางอากาศ การป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพ การรับสัมผัสมลพิษโดยให้กลุ่มเสี่ยงด้านมลพิษทางอากาศ มีขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อศึกษาภาวะสุขภาพพื้นฐานของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า ผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 158 คน ในช่วงระยะก่อนและหลังปฏิบัติงานฤดูการเกิดไฟป่าเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในระยะก่อนปฏิบัติงานฤดูการเกิดไฟป่า และในช่วงหลังปฏิบัติงานฤดูเกิดไฟป่าโดยความเกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ทางสาธารณสุข เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลภาวะสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าที่ปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังสุขภาพที่เหมาะสม รวมไปถึงนโยบายและการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมระบบเฝ้าระวังสุขภาพผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าในอนาคตด้วยงบประมาณที่จำกัดในการตรวจสุขภาพรวมถึงอาสาสมัครบางกลุ่มที่ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงการรักษา ส่งผลให้การตรวจสุขภาพไม่ครอบคลุม


ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์ มีความตั้งใจว่าในอนาคตทางภาครัฐจะมีส่วนผลักดันงบประมาณในการให้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาได้ตรวจสุขภาพด้วยโปรแกรมที่ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์ ได้ออกแบบอย่างเต็มรูปแบบและครอบคลุมต่อไป.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่