อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือจัดใหญ่ เปิดตัวสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม “Basecamp24” ประกาศความพร้อมปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทุกระดับ แวดล้อมด้วย Startup Ecosystem สมบูรณ์แบบ ครบวงจร 24 ชั่วโมง

2 เมษายน 2565

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสานฝันสตาร์ทอัพไทย จัดพิธีเปิดตัวสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม “Basecamp24” อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับด้วยโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ แวดล้อมด้วย Startup Ecosystem แบบครบวงจร 24 ชั่วโมง ในพื้นที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

วันที่ 31 มีนาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) จัดพิธีเปิดตัวสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม “Basecamp24” แสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพสมบูรณ์แบบที่สุดในภาคเหนือ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนในฐานะมหาวิทยาลัยแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในการนี้ ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมีนางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารจากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ หน่วยงานพันธมิตร นักลงทุน ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) สำหรับภายในงานได้จัดให้มีการรับชม VDO Clip แนะนำพื้นที่รองรับ Basecamp24 พร้อม Live สด ชมพื้นที่จริง รับชมตัวอย่าง Flash Pitching เส้นทางการเติบโตจากการบ่มเพาะของ Basecamp24 รุ่นพี่และรุ่นปัจจุบัน นอกจากนี้ภายนอกอาคารยังจัดพื้นที่กิจกรรม อาทิ showcase จาก startup และบริการเสริมต่าง ๆ ของอุทยานฯ เวทีเสวนาฟังบรรยายจากกลุ่มนักลงทุน ฯลฯ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างผลงานและบริการที่อุทยานฯ ภาคภูมิใจ


ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า Basecamp24 คือการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมผลักดันผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีอุทยานฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงนำทางในทุกเส้นทางการเติบโตแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพ ซึ่งนับเป็นการจุดประกายไอเดียต่าง ๆ ให้เหล่านักธุรกิจกระทั่งได้ลงมือทำจริง ผ่านการอบรมสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การจับคู่กับแหล่งทุน สร้างเครือข่ายธุรกิจ พร้อมมอบโอกาสต่าง ๆ ในการเติบโต นอกจากนี้ยังแวดล้อมด้วยระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพอย่างพื้นที่ทำงาน (Startup Space) อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดีย (The Brick Series) พื้นที่สร้างสรรค์ตัวอย่างการขึ้นรูปชิ้นงาน (The Brick FABLAB) พื้นที่สำนักงาน (Office Space) ซึ่งรองรับสตาร์ทอัพในทุกระดับการเติบโต ฯลฯ โดยจัดแบ่ง Basecamp ออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้ Ground camp: Wonderer จะเน้นเรื่องการสร้างแรงจูงใจและสร้างความตระหนักในการเป็นผู้ประกอบการ โดย Camp 1: Bootstrapper เป็นการเน้นให้องค์ความรู้เพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการคิดสร้างไอเดียการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ Pain Point และเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับ Camp 2: Explorer เน้นกระบวนการลงมือทำเพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจตามวิถีของ Startup ผ่านการพิสูจน์และสำรวจความต้องการของตลาด (Market Validation) เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการให้สามารถขายได้จริงและพัฒนาเป็นแผนธุรกิจที่เติบโตได้ต่อไป Camp 3: Challenger เน้นเรื่องการขยายตลาด (Scale up) หลังจากพิสูจน์แล้วใน Camp 2 โดยจะเน้นกระบวนการรวางแผนธุรกิจ กลยุทธ์ วิธีการต่าง ๆ ที่สามารถขยายตลาดของสินค้าหรือบริการนั้นได้ ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานโครงสร้างต่าง ๆ ทั้งการเงิน กำลังคน (Team) และการบริหารจัดการ เพื่อให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ Camp 4: Survivor ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการหานักลงทุน การเจรจาร่วมลงทุน (Partner) กับบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า STeP ในฐานะผู้รับรางวัลหน่วยบ่มเพาะ (Incubator) ระดับเอเชีย ตั้งเป้าเป็นหน่วยบ่มเพาะแนวหน้ามีศักยภาพในการสร้างผู้ประกอบการ Startup ผ่านกระบวนการ กลไกการเชื่อมโยงโอกาสต่าง ๆ ไปพร้อมกับการสร้างระบบนิเวศ (Startup Ecosystem) ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการ Startup ในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ในระบบการฟูมฟักของอุทยานฯ ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การสร้างผู้ประกอบการที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าภายในปี 2570 จะสามารถสร้างมูลค่าธุรกิจของผู้ประกอบการได้ถึง 18,000 ล้านบาท พร้อมสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่พื้นที่ภาคเหนือรวมถึง 26,640 ล้านบาท โดยอุทยานฯ มีแผนโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ รองรับอีกมากอย่างกิจกรรม Startup’s day กิจกรรม Hackathon เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการใน Basecamp24 ได้ต่อยอดธุรกิจของตนเองไปสู่ความสำเร็

ด้าน ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือได้รับการสนับสนุนด้วยดีมาตลอดจากกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการส่งเสริมการนำทรัพยากรและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยออกมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565) ซึ่ง Basecamp24 นี้จะสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ที่ 5 ของมหาวิทยาลัย ในการเป็นยุทธศาสตร์ที่นำทรัพยากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร นักศึกษา รวมถึงงานวิจัย มาบูรณาการร่วมกันโดยประยุกต์สร้างนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม โดยมหาวิทยาลัยพร้อมผลักดันให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการทำธุรกิจ Startup ให้ประสบผลสำเร็จ ตลอดจนจะร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน

แกลลอรี่