อาจารย์ CAMT ร่วมงาน ASTRA International Conference เพิ่มโอกาสการแสวงหาเงินทุน พร้อมต่อยอดความร่วมมือด้านวิชาการร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพยุโรป
28 มิถุนายน 2567
วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยคณบดี ด้านความร่วมมือต่างประเทศและการระดมทุน วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าโครงการ ASTRA (Advancing Strategic Management, Leadership and Fundraising in Higher Education in Asia) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร คูวุฒยากร นักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ หาญวงค์ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมวิชาการในงาน ASTRA International Conference ภายใต้หัวข้อ "Advancing Strategic Management, Leadership, and Fundraising in Higher Education in Asia. Theme: Social Research and Digital Innovation for Local Development" เมื่อวันที่ 20-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม Lao Plaza Hotel นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว
การประชุมวิชาการในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของโครงการ ASTRA ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสรุปผลลัพธ์การดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาการดำเนินงานใน 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในมิติของความสำเร็จ ความท้าทาย ความยั่งยืน และการสะท้อนบทเรียนสำคัญที่ได้จากการดำเนินโครงการ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับรายงานผลการดำเนินโครงการแก่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Union Commission) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าว
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษหัวข้อด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถภายใต้กรอบการดำเนินงาน Capacity Building in the field of Higher Education จากผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายสหภาพยุโรป และกิจกรรมนำเสนอผลงานวิชาการจากกลุ่มนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโอกาสนี้ มีนักศึกษาจากแลปวิจัยระบบปฏิบัติการฝังตัวและวิทยาการคำนวณ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย (1) น.ส.จรรยาพร ไทรงาม; (2) น.ส.มานิภา พ่วงพลับ; และ (3) นายพัทชรพงศ์ ทิตย์วงศ์ เข้าร่วมนำเสนอร่างข้อเสนอโครงการ (Project proposal) แก่กลุ่มผู้ฟังในที่ประชุม ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการระดมทุนสำหรับกิจกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และช่วยส่งเสริมนักศึกษาให้มีทักษะ Global Citizenship ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อรองรับโอกาสต่าง ๆ ในอนาคตได้
นอกจากนี้ เหล่าตัวแทนจากสถาบันพันธมิตรทั้ง 8 แห่ง ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการต่อยอดความร่วมมือระหว่างสถาบันในโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โอกาสการยื่นขอทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในโครงการถัดไป ตลอดจนการต่อยอดความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนระยะสั้นของนักศึกษาและบุคลากรระหว่างสถาบันภายใต้กรอบการดำเนินงาน Learning mobility for higher education students and staff ซึ่งดำเนินการร่วมกับ University of Florence สาธารณรัฐอิตาลี และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการ ASTRA นั้นได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ภายใต้กรอบการดำเนินงานของ Erasmus+ มุ่งสร้างขีดความสามารถแก่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่พันธมิตรทั้ง 8 สถาบันได้ร่วมกันผลักดัน ASTRA ให้บรรลุภารกิจการส่งมอบผลลัพธ์ต่าง ๆ โดยหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญจากโครงการ ASTRA คือการจัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ASTRA” (ASTRA R&D Innovation & Consulting Hub, CMU, Thailand) ขึ้น ณ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานนำร่องปีที่ 1 จากสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สบว.มช) และ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มีพันธกิจหลักในการมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรมหาวิทยาลัย โดยนำเสนอรูปแบบบริการที่เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมาย (Potential Clients) ผ่านการดำเนินงาน 2 หลัก ได้แก่ (1) การฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอโครงการแก่บุคลากรมหาวิทยาลัย (Coaching and Consulting) เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการแสวงหาคู่ความร่วมมือในการทำงานสำหรับกการร่างโครงการต่าง ๆ; (2) การบริการให้คำปรึกษาในรูปแบบที่สอดคล้องกับความความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอื่นที่มีศักยภาพ ได้แก่ ภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในด้านความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั้งในรูปแบบเป็นผู้ให้ทุนหรือเป็นคู่ความร่วมมือภาคเอกชนในการสมัครขอรับทุน หรือเป็นกลุ่มเป้าหมายในโครงการบริการวิชาการ (Academic services)