ดูแล ป้องกัน รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง

13 พฤษภาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

จากข้อมูลในปี 2566 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ 12 ล้านคน หรือใน 3 วินาที จะพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 คน ขณะที่ประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ พบผู้ป่วยจำนวน 3 แสนราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 70 ปี และเสียชีวิตมากถึง 3 หมื่นคน ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ โดยในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมาด้วยอาการที่ค่อนข้างรุนแรง จากหลักฐานการศึกษาปัจจุบันพบว่า อาจเกิดจากอุณหภูมิที่เปลี่ยน ทำให้กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด ประกอบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงกระตุ้นให้อาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน, โรคหลอดเลือดสมองแตก และกลุ่มภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดเลือดชั่วคราวแล้วหายไป ทั้ง 3 กลุ่มล้วนส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองลดลง ส่งผลให้เกิดอาการหลายอย่าง ทั้งนี้อาการแสดงขึ้นอยู่กับว่า เกิดอาการขาดเลือดของเนื้อเยื่อสมองส่วนไหน จึงทำให้อาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละราย ที่แสดงออกมาไม่เหมือนกัน

อาการและสัญญาณเตือน
อาการและสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง จำง่าย ๆ เป็นภาษาอังกฤษคือคำว่า “BEFAST” ประกอบด้วย
B (Balancing) คือการทรงตัวที่ผิดปกติ
E (Eye) คือการมองเห็นที่ผิดปกติ
F (Face) คืออาการหน้าเบี้ยว หรือกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งคนไข้มักจะมีอาการอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง
A (Arm) คือ อาการอ่อนแรงของแขนและขา บางรายอาจจะอ่อนแรงทั้งแขนและขาทั้งซีก หรืออาจจะอ่อนแรงบางส่วนเช่น อ่อนแรงเฉพาะแขน หรือเฉพาะขา
S (Speech) คือ การพูดที่ผิดปกติ สื่อสารออกมาไม่รู้เรื่อง บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการพูดไม่ได้ หรือบางรายอาจมีอาการพูดไม่เป็นภาษา จนอาจทำให้ฟังไม่ได้ความ หรืออาจแค่พูดไม่ชัด
T (Time) คือ เวลาที่เกิดอาการ เมื่อเข้าสู่การรักษาของแพทย์ ทีมผู้ให้การดูแลต้องวินิจฉัยความเฉียบพลันของโรคหลอดเลือดสมองจากเวลาที่เกิดอาการ ผู้ป่วยควรต้องมาถึงโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพื่อให้ได้รับการเปิดหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยง
– ภาวะความดันโลหิตสูง
– ไขมันในเลือดสูง
– โรคหัวใจ
– เบาหวาน
– ภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
– ขาดการออกกำลังกาย
– หยุดหายใจขณะหลับ
– ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– สูบบุหรี่และสารเสพติด

การป้องกัน
– ควบคุมระดับความดันในโลหิต
– ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
– รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
– มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
– งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
– งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด
– ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
– ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน มีการเปิดหลอดเลือดโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดผ่านหลอดเลือดดำ หรือในบางราย มีการอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ จะมีการนำขดลวดเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันภายในหลอดเลือดออก หรือบางรายอาจให้การรักษาโดยการรับประทานยา ซึ่งการรักษาแต่ละแบบ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแตก และภาวะแทรกซ้อนหลังเปิดหลอดเลือด
– การผ่าตัดเพื่อเข้าไปหยุดเลือด หรือเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ
– การรักษาตามอาการ เพื่อลดการเกิดเลือดออกในสมองซ้ำ
– ใส่ขดลวดหรือวัสดุที่มีลักษณะคล้ายโฟมเพื่อป้องกันหลอดเลือดที่โป่งพองแตกหรือแตกซ้ำ
– การฟื้นฟูสภาพ ได้แก่ การกายภาพบำบัด การทำกิจกรรมบำบัด และการทำอัตถบำบัด
นอกจากนี้ โปรแกรมการเตรียมความพร้อมเพื่อสามารถกลับสู่การทำงาน (Return to work program) ซึ่งเป็นโปรแกรมใหม่ที่ทีมผู้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากสถิติที่พบว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนวัยทำงานประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นโรคหลอดเลือด ที่เราให้การดูแลต่อเนื่องและร่วมมือกับสถานประกอบการของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ให้มากเท่าที่จะสามารถทำได้

ขอบคุณข้อมูลจาก
พว.รุจี รัตนเสถียร พยาบาลชำนาญการ หน่วยวิจัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ/ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์
แกลลอรี่